เรามาดูความก้าวหน้าในการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์กันบ้างนะครับ ในที่นี้ก็คือ “สุริยวิถี”
ในงานวิจัยเรื่อง “Building a Learning Progression for Celestial Motion: Elementary Levels from an Earth-Based Perspective” ผู้วิจัยศึกษาความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเคลื่อนที่ของดาวต่างๆ บนท้องฟ้า ทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว โดยมีนักเรียนในระดับประถมศึกษา และนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประมาณ 120 คน เป็นผู้ให้ข้อมูลครับ
ในการเก็บข้อมูลนั้น ผู้วิจัยลงทุนสร้างโดมขึ้นมา แล้วก็เข้าไปอยู่ในโดมนั้นกับนักเรียน จากนั้น ผู้วิจัยก็สัมภาษณ์นักเรียนเป็นรายบุคคลว่า ตำแหน่งของดวงอาทิตย์เป็นอย่างไร ณ เวลาต่างๆ ในฤดูต่างๆ ดังภาพในหน้าที่ 772
ตอนแรก ผมก็สงสัยว่า ทำไมผู้วิจัยต้องทำขนาดนี้ และทำไมผู้วิจัยไม่ใช้ภาพบนกระดาษธรรมดาก็พอ แต่เมื่อคิดอย่างรอบคอบแล้ว ผมเข้าใจว่า เนื่องจากปรากฏการณ์นี้เป็น 3 มิติ ครับ การใช้ภาพในกระดาษ ซึ่งมีเพียงแต่ 2 มิติ อาจจำกัดการแสดงความคิดของนักเรียน ซึ่งก็เท่ากับการจำกัดการได้มาซึ่งข้อมูลที่ลึกซึ้งของผู้วิจัยด้วย
ผมขอนำเสนอผลการวิจัยเฉพาะของดวงอาทิตย์เท่านั้นนะครับ ดังภาพในหน้าที่ 774
ผู้วิจัยแบ่งความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องนี้ออกเป็น 3 ลำดับครับ
ในลำดับที่ 1 นักเรียนเข้าใจก่อนว่า ดวงอาทิตย์มีการขึ้นและตกในแต่ละวัน และ ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าในเวลากลางวัน และหายไปจากท้องฟ้าในเวลากลางคืน
ในลำดับที่ 2 นักเรียนเข้าใจว่า ตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง (นักเรียนบางคนเข้าใจว่า ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่นิ่งๆ) และ ดวงอาทิตย์ขึ้นในทิศตะวันออกและตกในทิศตะวันตก (นักเรียนบางคนเข้าใจว่า ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นเองในเวลากลางวัน และหายไปเองในเวลากลางคืน)
ในลำดับที่ 3 นักเรียนต้องเข้าใจว่า เส้นทางที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์เคลื่อนไปบนท้องฟ้านั้นเปลี่ยนไปในแต่ละฤดู ทำให้ความยาวของเส้นทางนี้ในแต่ละฤดูไม่เท่ากัน และ เส้นทางนี้ไม่ได้ผ่านบนศรีษะโดยตรง [สถานที่ของการทำวิจัยไม่ได้อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรครับ]
หากเราพิจารณา “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551″ แนวคิดนี้ปรากฏใน ว 7.1 ป. 3/1 (หน้า 86) ซึ่งตัวชี้วัดระบุว่า “สังเกตและอธิบายการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์…” และสาระการเรียนรู้แกนกลางระบุว่า “โลกหมุนรอบตัวเองทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่อไปนี้ … ปรากฏการณ์ขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ …”
จากตัวชี้วัดข้างต้นแล้ว เราคาดหวังให้นักเรียนไทยชั้น ป. 3 เข้าใจว่า “ดวงอาทิตย์…ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก” ซึ่งตรงกับลำดับที่ 2 ของความก้าวหน้าในการเรียนรู้นี้
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ข้างต้นกล่าวถึงผลการสังเกตเท่านั้นครับ มันยังไม่ได้กล่าวถึงการอธิบายเลย นั่นหมายความว่า เรายังคาดหวังให้นักเรียนไทยชั้น ป. 3 สามารถอธิบายได้ด้วยว่า “ทำไมดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก” ซึ่งอาจต้องมีการวิจัยต่อไป เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในการเรียนรู้เกี่ยวกับการอธิบายการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์
หมายเหตุ: อาจารย์ติดตามความแตกต่างของความหมายระหว่างคำว่า “การสังเกต” และคำว่า “การอธิบาย” ได้ในโพสหน้านะครับ