ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างและใช้แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์

ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ที่ไม่ใช่เรื่องของแนวคิดครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอความก้าวหน้าในการเรียนรู้เกี่ยวกับการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไปแล้ว ตัวอย่างนี้เป็นเรื่องของการสร้างและใช้แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ครับ

ในบทความวิจัยเรื่อง “Developing a Learning Progression for Scientific Modeling: Making Scientific Modeling Accessible and Meaningful for Learners” ผู้วิจัยได้นำเสนอความก้าวหน้าในการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างและการใช้แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้ครับ (หน้า 640)

ผู้วิจัยแบ่งความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องนี้ออกเป็น 4 ระดับนะครับ

ในระดับที่ 1 นักเรียนสร้างและใช้แบบจำลอง เพื่อ “บรรยาย” ปรากฏการณ์ กล่าวคือ นักเรียนสร้างและใช้แบบจำลองเพื่อระบุเพียงแค่ “สิ่งที่ปรากฏ” เท่านั้น แต่นักเรียนไม่ได้ใช้แบบจำลอง เพื่อ “อธิบาย” ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในระดับที่ 2 นักเรียนสร้างและใช้แบบจำลอง ทั้งเพื่อ “บรรยาย” และ “อธิบาย” ปรากฏการณ์ กล่าวคือ นักเรียนสร้างและใช้แบบจำลอง เพื่อ “สื่อสาร” กับผู้อื่นว่า ตนเองมีความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นอย่างไร

ในระดับที่ 3 นักเรียนสร้างและใช้แบบจำลอง ทั้งเพื่อ “บรรยาย” “อธิบาย” และ “สื่อสาร” ความเข้าใจของตนเองกับผู้อื่น นอกจากนี้ นักเรียนยังสร้างและใช้แบบจำลองเพื่อ “ทำนาย” สิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย

ในระดับที่ 4 นักเรียนสร้างและใช้แบบจำลอง ทั้งเพื่อ “บรรยาย” “อธิบาย” และ “สื่อสาร” ความเข้าใจของตนเองกับผู้อื่น ตลอดจนเพื่อ “ทำนาย” สิ่งที่อาจปรากฏขึ้นด้วย นอกจากนี้ นักเรียนยังสร้างและใช้แบบจำลองเพื่อ “ตั้งคำถาม” และ/หรือ “ตั้งสมมติฐาน” ใหม่ อันนำไปสู่การทดลองหรือการทดสอบ ตลอดจนปรับเปลี่ยนแบบจำลองนั้นให้สอดคล้องกับหลักฐานที่ได้จากปรากฏการณ์นั้น (และปรากฏการณ์อื่นๆ) อีกด้วย

ผมอ่านบทความวิจัยนี้แล้วเกิดความตระหนักว่า แบบจำลองต้องมีศักยภาพมากกว่าการสื่อสารแนวคิดบางอย่างกับนักเรียน แต่แบบจำลองสามารถนำพานักเรียนไปสู่ความสงสัยและการศึกษาเพื่อตอบข้อสงสัยนั้น จนกระทั่งนักเรียนได้สร้างความรู้ใหม่ๆ จากกระบวนการสร้างและทดสอบความถูกต้องของแบบจำลองนั้นครับ

Comments

comments