At present it seems that much of what goes on in science lessons is dominated by thoughts of what activities the students might become involved in … [T]he emphasis on practical activity has served to draw attention away from what we regard as being key feature of any science lesson. That is the way in which the teacher orchestrates the talk of the lesson, in interacting with students, to develop the scientific story being taught. Practical activities can be interesting, motivating and helpful in getting ideas across, but they cannot speak for themselves (page 1)
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือที่มีชื่อว่า “Meaning Making in Secondary Science Classrooms” ซึ่งผมชอบมากเลยครับ ผมคิดว่า ใจความของข้อความนี้สะท้อนสิ่งที่ครูและนักวิชาการทั้งหลายกำลังเป็นอยู่ ผมแปลแบบง่ายๆ ดังนี้ครับ
ณ ปัจจุบันนี้ มันดูเหมือนว่า การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ถูกปกคลุมไปด้วยความคิดที่ว่า เราจะให้นักเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง จุดเน้นตรงกิจกรรมได้ดึงความสนใจของเราไปจากสิ่งที่สำคัญมากในทุกๆ บทเรียนวิทยาศาสตร์ นั่นคือ วิธีการที่ครูอภิปรายและมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน เพื่อพัฒนาเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมต่างๆ อาจจะน่าสนใจ สร้างแรงจูงใจ และมีประโยชน์ในการพัฒนาความคิดของนักเรียน แต่พวกมันพูดด้วยตัวเองไม่ได้
ผมแปลไทยเป็นไทยอีกทีได้ว่า ทุกวันนี้ ทั้งครูและนักวิชาการต่างๆ หมกหมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่า เราจะให้นักเรียนทำิกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ แต่เรากลับละเลยไปว่า วิธีการพูด การอภิปราย และการมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังกิจกรรมเหล่านั้น ก็มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม หากครูไม่สามารถพูดและอภิปรายกับนักเรียนได้แล้ว นักเรียนอาจจะได้แค่ลงมือทำกิจกรรม แต่ไม่ได้พัฒนาความเข้าใจใดๆ เลย ที่เป็นวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จึงกระตุ้นให้ทั้งครูและนักวิชาการให้ความสำคัญกับวิธีการพูดและอภิปรายกับนักเรียนให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย เราพูดถึงกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนต่างๆ มาพอสมควรแล้ว ทั้งกิจกรรมแบบสิบเสาะหาความรู้ กิจกรรมแบบการแก้ปัญหาเป็นฐาน กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย แต่เราแทบไม่พูดกันถึงวิธีการใช้ภาษา การอภิปราย การมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเลย เราแทบไม่เคยถามกันเลยว่า “เราจะอภิปรายกับนักเรียนอย่างไร เพื่อให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์” เราคิดกันเอาเองว่า เมื่อนักเรียนทำกิจกรรมเหล่านี้แล้ว นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว การใช้ภาษาของครูนี่แหละครับ ที่จะทำใ้้ห้นักเรียนเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในกิจกรรมนั้น
ในหนังสือข้างต้น ผู้เขียนเสนอแนวทางการอภิปรายกับนักเรียนดังนี้ครับ (หน้า 35)
เราสามารถแบ่งแนวทางการอภิปรายกับนักเรียนออกเป็น 2 มิติ คือ 1. การมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และ 2. การให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลาย โดยแต่ละมิติก็ถูกจำแนกออก 2 แบบ คือ 1.1 การมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และ 1.2 การไม่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และ 2.1 การให้ความสนใจกับมุมมองที่หลายหลาก และ 2.2 การให้ความสนใจกับมุมมองเพียงหนึ่งเดียว
เมื่อเรานำ 2 มิตินี้มารวมกัน เราก็จะได้แนวทาง 4 ข้อ ในการอภิปรายกับนักเรียน ดังนี้
- การมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และ การให้่ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลาย (Interactive + Dialogic) เป็นแนวทางการพูดกับนักเรียน โดยที่ครูและนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการถามตอบไปมา และ ครูให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลาย เช่น ครูสำรวจและอภิปรายความคิดต่างๆ ของนักเรียน แม้ว่าความคิดนั้นอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจของครูก็ตาม
- การไม่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และ การให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลาย (Non-interactive + Dialogic) เป็นแนวทางการพูดกับนักเรียน โดยที่ครูแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเลย เช่น การพูดบรรยายหน้าชั้นเรียน แต่ครูก็ยังให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลาย โดยครูอาจพูดถึงมุมมองต่างๆ (เช่น แนวคิดที่คลาดเคลื่อน) ซึ่งครูได้ทำการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มา่ก่อนล่วงหน้า [แต่ครูไม่ถามนักเรียน]
- การมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และ การไม่ให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลาย (Interactive + Authoritative) เป็นแนวทางการพูดกับนักเรียน โดยที่ครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการถามตอบไปมา แต่ครูไม่สนใจมุมมองที่หลากหลายเลย ครูสนใจเพียงสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อสารกับนักเรียน (ซึ่งส่วนใหญ่คือแนวคิดทางวิทยาศาสตร์) หากนักเรียนแสดงมุมมองที่แตกต่างจากสิ่งที่อยู่ในใจของครู ครูก็จะไม่สนใจหรือไม่พยายามทำความเข้าใจมุมมองนั้นเลย
- การไม่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และ การไม่ให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลาย (Non-interactive + Authoritative) เป็นแนวทางการพูดกับนักเรียน โดยที่ครูแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเลย เช่น ครูอาจบรรยายหน้าชั้นเรียนอย่างเดียว ในขณะที่นักเรียนเป็นเพียงผู้ฟัง นอกจากนี้ ครูยังไม่สนใจมุมมองของนักเรียนอีกด้วย ยกเว้นว่ามุมมองนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่อยู่ในใจของครู
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ย้ำว่า ในบรรดาแนวทางทั้ง 4 ข้อนี้ ไม่มีแนวทางไหนที่ดีกว่ากัน เพียงแต่ครูต้องรู้ว่า ตนเองควรใช้แนวทางการพูดแบบไหน ณ เวลาใด
ตัวอย่างเช่น ในช่วงเริ่มต้นบทเรียน ซึ่งนักเรียนมักมีความเข้าใจเนื้อหาของบทเรียนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ครูควรใช้แนวทางข้อที่ 1 (Interactive + Dialogic) เพราะครูจะได้ทราบว่า นักเรียนแต่ละคนมีความเข้าใจอย่างไรบ้าง นักเรียนคนใดบ้างที่เข้าใจคลาดเคลื่อน และความเข้าใจเหล่านั้นคลาดเคลื่อนอย่างไร
ในระหว่างบทเรียน หรือในระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรม ครูอาจใช้แนวทางข้อที่ 2 (Non-interactive + Dialogic) และข้อที่ 3 (Interactive + Authoritative) สลับกันไป โดยเน้นให้นักเรียนที่มีความเข้าใจถูกต้องได้แสดงความคิดเห็น และเปรียบเทียบกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของนักเรียนคนอื่นๆ ในการนี้ ครูอาจแสดงความคิดเห็น(ที่ถูกต้อง)ของตนเองด้วย ทั้งนี้เพื่อโน้มน้าวให้นักเรียนที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเห็นคล้อยตามนักเรียนที่เข้าใจถูกต้อง
แต่ในตอนท้ายบทเรียน ซึ่งครูจำเป็นต้องสรุปแนวคิดที่สำคัญของบทเรียน ครูอาจใช้แนวทางข้อที่ 4 (Non-interactive + Authoritative) เพื่อย้ำให้นักเรียนทุกคนแน่ใจว่า ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
ผมเคยลองทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาบ้างครับ (หน้า 307 – 320) โดยผมเก็บข้อมูลจากการสังเกตการสอนของครูฟิสิกส์ 4 คน ซึ่งไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการสังเกต ผมพบว่า ครูทั้ง 4 คนมักใช้แนวทางข้อที่ 3 และข้อที่ 4 ในการพูดกับนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ครับ กล่าวคือ ครูทั้ง 4 คน ยึดติดกับสิ่งที่ตนเองต้องการสอน โดยละเลยไปว่า นักเรียนอาจมีแนวคิดที่แตกต่างไปจากสิ่งที่อยู่ในใจของครู แม้ว่าครูบางคนพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน โดยการถามเพื่อให้นักเรียนตอบ แต่ด้วยครูยังไม่เปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังความคิดของนักเรียน(ที่แตกต่างไปจากของตัวเอง) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ออกมาในลักษณะที่ว่า นักเรียนพยายามเดาคำตอบที่ครูคาดหวัง แทนที่จะพูดสิ่งที่ตนเองเข้าใจจริงๆ ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อให้ครูพอใจ
อาจารย์อาจลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่า อาจารย์ใช้แนวทางแบบไหนในการพูดกับนักเรียนบ้าง แล้วปฏิกิริยาของนักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผมยกมานำเสนอเท่านั้นนะครับ ผู้เขียนให้รายละเอียดพร้อมตัวอย่างไว้ในหนังสือ ใครที่สนใจก็ลองหามาอ่านได้ครับ [ผมได้หนังสือเล่มนี้มาจากห้องสมุดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งต้องแสดงความขอบคุณ ผศ.ดร. โชคชัย ยืนยง มา ณ โอกาสนี้]