ในช่วงหลังมานี้ ผมไม่ค่อยได้เขียนเกี่ยวกับงานวิจัยเชิงคุณภาพเท่าไหร่ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมบังเอิญเจอบทความวิจัยเรื่อง “The Role of Qualitative Research in Science Education” ซึ่งนำเสนอแนวโน้มของการวิจัยในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษาได้ดีทีเดียวครับ บทความนี้เป็นการศึกษาเพื่อตอบคำถามวิจัย 3 ข้อ ดังนี้ครับ
- งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาส่วนใหญ่เป็นการวิจัยประเภทใด (งานวิจัยเชิงปริมาณ งานวิจัยเชิงคุณภาพ หรืองานวิจัยแบบผสมผสาน)
- งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา “ที่ไม่ใ่ช่งานวิจัยเชิงปริมาณ” ใช้วิธีการเก็บข้อมูลใดบ้าง (การสัมภาษณ์ การสังเกต และการศึกษาเอกสาร)
- งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา “ที่ไม่ใช่งานวิจัยเชิงปริมาณ” มีการใช้เทคนิคสามเส้ม (Triangulation) มากน้อยเพียงใด
ผมเดาเอาเองนะครับว่า ผู้วิจัยคงสังเกตเห็นแนวโน้มที่ว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพค่อยๆ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษา แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบจริงๆ เกี่ยวกับแนวโน้มนี้ ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่ “อุปทาน” ของผู้วิจัยเองก็ได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง (ผมเองก็สังเกตเห็นแนวโน้มนี้ ดังที่ผมเคยเรียนให้อาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” อยู่บ่อยครั้งว่า งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาในต่างประเทศเป็นเชิงคุณภาพซะส่วนใหญ่ แต่ผมก็ไม่ได้ศึกษาแนวโน้มนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งผมเห็นบทความวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งก็เข้าทางผมพอดีครับ)
ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยใช้การศึกษางานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ซึ่งประกอบด้วย
- Journal of Research in Science Teaching (JRST)
- Science Education (SE)
- International Journal of Science Education (IJSE)
ในการนี้ ผู้วิจัยพิจารณางานวิจัยทั้งหมดที่เผยแพร่ในช่วงเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 – 2008 ซึ่งมีทั้งสิ้น 461 เรื่อง (JRST 146 เรื่อง; SE 127 เรื่อง; และ IJSE 188 เรื่อง) รวมจำนวนหน้าทั้งหมด 12524 หน้า
ผู้วิจัย (2 คน) วิเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดเหล่านี้ โดยการอ่านอย่างละเอียดเพื่อบ่งชี้ว่า งานวิจัยแต่ละเรื่องเป็นการวิจัยประเภทใด ในการนี้ ผู้วิจัยแต่ละคนจัดกลุ่มงานวิจัยแต่ละเรื่องออกเป็น 3 กลุ่ม คือ งานวิจัยเชิงปริมาณ งานวิจัยเชิงคุณภาพ หรือ งานวิจัยแบบผสมผสาน แต่ละคนจัดกลุ่มแยกกัน แล้วจึงนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกันเพื่อหาค่า “Inter rater reliability” (อาจารย์ในโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ”คงยังจำกันได้นะครับ) ซึ่งได้เท่ากับ 96%
ผลการจัดกลุ่มเป็นดังนี้ครับ
งานวิจัยใน JRST ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ทั้งหมดจำนวน 146 เรื่อง แบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 43 เรื่อง (29.5%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 65 เรื่อง (44.5%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 36 เรื่อง (24.6%) ส่วนอีก 2 เรื่อง (1.4%) เป็นบทความทางทฤษฎี
งานวิจัยใน SE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ทั้งหมดจำนวน 127 เรื่อง แบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 17 เรื่อง (13.4%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 68 เรื่อง (53.5%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 26 เรื่อง (20.5%) ส่วนอีก 16 เรื่อง (12.6%) เป็นบทความทางทฤษฎี
งานวิจัยใน IJSE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ทั้งหมดจำนวน 188 เรื่อง แบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 62 เรื่อง (33.0%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 75 เรื่อง (39.9%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 37 เรื่อง (19.7%) ส่วนอีก 14 เรื่อง (7.4%) เป็นบทความทางทฤษฎี
ผลการพิจาณารวมกันทั้ง 3 วารสารเป็นดังนี้ งานวิจัยทั้งหมดจำนวน 461 เรื่องแบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 122 เรื่อง (26.5%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 208 เรื่อง (45.1%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 99 เรื่อง (21.5%) ส่วนอีก 32 เรื่อง (6.9%) เป็นบทความทางทฤษฎี
ผลการจัดกลุ่ม (หรือผลการวิเคราะห์) ข้างต้น แสดงว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นงานวิจัยที่มีอัตราส่วนมากที่สุด (45.1%) ในการนี้ ผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์งานวิจัยที่ใช้วิธีการวิัจัยเชิงคุณภาพ (นั่นคือ งานวิจัยเชิงคณภาพและงานวิจัยแบบผสมผสาน) อย่างละเอียดมากขึ้นว่า งานวิจัยเหล่านี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลใดบ้าง ในการนี้ ผู้วิจัยจัดกลุ่มวิธีการเก็บข้อมูลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์เอกสาร
ผลการวิจัยในแง่ของวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นดังนี้ครับ
งานวิจัยใน JRST ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 65 + 36 = 101 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 70 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 53 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 31 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 101 ครับ)
งานวิจัยใน SE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 68 + 26 = 94 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 71 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 57 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 34 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 94 ครับ)
งานวิจัยใน IJSE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 75 + 37 = 112 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 73 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 45 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 37 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 112 ครับ)
ผลการพิจาณารวมกันทั้ง 3 วารสารเป็นดังนี้ งานวิจัยที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเิชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 101 + 94 + 112 = 307 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 70 + 71 + 73 = 214 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 53 + 57 + 45 = 155 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 31 + 34 + 37 = 102 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 307 ครับ) นั่นคือ การสัมภาษณ์เป็นวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพที่ถูกใช้มากที่สุด รองลงมาคือการสังเกตและการเก็บเอกสาร ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผู้วิจัยวิเคราะห์ต่อไปว่า งานวิจัยในแต่ละวารสารที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ (ซึ่งรวมทั้งงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยแบบผสมผสาน) มีงานวิจัยที่ใช้เทคนิคสามเส้าเป็นจำนวนเท่าใด
ผลการวิเคราะห์เป็นดังนี้ครับ
งานวิจัยใน JRST ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 101 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเพียง 1 วิธี 63 เรื่อง (62.4%) ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี 23 เรื่อง (22.8%) และใช้วิธีการเก็บข้อมูล 3 วิธี 15 เรื่อง (14.8%)
งานวิจัยใน SE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 94 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเพียง 1 วิธี 49 เรื่อง (52.1%) ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี 30 เรื่อง (31.9%) และใช้วิธีการเก็บข้อมูล 3 วิธี 15 เรื่อง (16.0%)
งานวิจัยใน IJSE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 112 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเพียง 1 วิธี 74 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี 31 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บข้อมูล 3 วิธี 6 เรื่อง [ข้อมูลจากบทความวิจัยในส่วนนี้ดูเหมือนจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อยนะครับ เพราะ 74 + 31 +6 = 111 แทนที่จะเป็น 112 ครับ]
นั่นคือ จำนวนงานวิจัยที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพยังมีน้อยที่ใช้เทคนิคสามเส้าครับ
ผมขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า สาเหตุที่งานวิจัยเชิงคุณภาพได้รับความนิยมมากขึ้นก็คือว่า งานวิจัยประเภทนี้ช่วยให้ผู้วิจัยเข้าใจความซับซ้อนเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ (และการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์) ได้ดีขึ้น ตรงนี้เป็นจุดเด่นที่งานวิจัยเชิงคุณภาพได้ตอบสนองข้อจำกัดของงานวิจัยเชิงปริมาณที่แพร่หลายมาก่อนหน้านี้ แม้ว่างานวิจัยเชิงคุณภาพอาจถูกวิจารณ์จากกลุ่มคนที่ยึดมั่นในระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณว่า มันอาจขาดความน่าเชื่อถือและมีการนำไปใช้ได้ในบริบทที่จำกัด แต่สำหรับกลุ่มคนที่เล็งเห็นข้อดีของงานวิจัยเชิงคุณภาพ พวกเขาคิดว่า แม้ข้อวิจารณ์เหล่านี้มีเหตุผล แต่มันก็ไม่ใช่และไม่ควรเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ (และการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์) ครับ
ถึงตรงนี้ ผมคงพูดได้เต็มปากอีกครั้งแล้วว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพกำลังมีบทบาทอย่างมากในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษาในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันนี้ ผมอาจต้องตั้งคำถามให้ดังขึ้นว่า มันถึงเวลาแล้วยังที่งานวิจัยเชิงคุณภาพจะมีบทบาทมากขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษาของประเทศไทย