การวิเคราะห์ข้อสอบ PISA ด้านการรู้วิทยาศาสตร์ผ่านมุมมองของ SSI

ช่วงนี้หลายฝ่ายตื่นตัวมากขึ้นกับการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ซึ่งกำลังจะมีขึ้นอีกครั้งในปีหน้านี้ครับ ผมลองสืบค้นในอินเตอร์เน็ตและเห็นการอบรมโดยหน่วยงานต่างๆ มากมาย การอบรมเหล่านี้อาจครอบคลุมไปถึงครูที่สอนวิชาอื่นด้วย นอกเหนือจากครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ และครูภาษาไทย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการอบรมครั้งแรกๆ การอบรมที่ผมพบเห็นส่วนใหญ่เน้นให้ครูได้ตระหนัก คุ้นเคย และสร้างข้อสอบแบบ PISA มากขึ้น อย่างไรก็ดี การอบรมจำนวนน้อยมากที่นำเสนอการวิเคราะห์ข้อสอบ PISA เพื่อใช้เป็นแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนต่อไป

แต่ละคนอาจมองปรากฏการณ์ที่นักเรียนไทยทำข้อสอบ PISA ได้น้อยกว่าความคาดหวังของสังคมแตกต่างกันไป บางคนอาจมองว่าปัญหาหลักอยู่ที่นักเรียนไทยยังไม่คุ้นเคยกับข้อสอบแนวนี้ การอบรมจำนวนไม่น้อยจึงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาตรงจุดนี้ อย่างไรก็ดี หากเราสมมติว่า นักเรียนไทยคุ้นเคยกับข้อสอบแบบนี้แล้ว เรามั่นใจได้ไหมว่า นักเรียนไทยจะทำข้อสอบ PISA ได้ดีขึ้น คำตอบคือ “ไม่แน่” ทั้งนี้เพราะความคุ้นเคยกับข้อสอบ PISA คงช่วยได้เพียงส่วนหนึ่ง (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) การทำข้อสอบ PISA ได้ต้องการอะไรที่มากกว่านั้นครับ เราต้องมองปัญหาที่นักเรียนไทยทำข้อสอบ PISA ได้ไม่ดีให้ลึกถึงสภาพการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาบางท่านได้ทำการวิเคราะห์ข้อสอบ PISA ผ่านมุมมองของแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ตนเองสนับสนุน ตัวอย่างเช่น ในบทความวิจัยเรื่อง “Scientific Literacy, PISA, and Socioscientific Discourse: Assessment for Progressive Aims of Science Education” ผู้เขียนได้วิเคราะห์ข้อสอบ PISA “ด้านการรู้วิทยาศาสตร์” ผ่านมุมมองของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสังคม (Socio-Scientific Issues: SSI) เนื่องจากข้อสอบ PISA มักใช้สถานการณ์ที่เป็นประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว หลายคนจึงคิดว่า แนวทางการจัดการเรียนการสอนนี้น่าจะเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับการส่งเสริมให้นักเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (และทำข้อสอบ PISA ด้านการรู้วิทยาศาสตร์) แต่การวิเคราะห์เชิงลึกกลับไม่เป็นอย่างนั้นครับ

จากการวิเคราะห์ข้อสอบ PISA ด้านการรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งวัดและประเมินสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ 3 ประการ ซึ่งประกอบด้วย (1) การระบุประเด็นทางวิทยาศาสตร์ (2) การอธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ และ (3) การใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผลการวิเคราะห์เปิดเผยว่า แนวทางการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสังคม (SSI) สอดรับข้อสอบ PISA ด้านการรู้วิทยาศาสตร์เพียง 1 ใน 3 สมรรถนะเท่านั้น ดังนี้ครับ

ในสมรรถนะที่ 1 “การระบุประเด็นทางวิทยาศาสตร์” ผู้เขียนยกตัวอย่างข้อสอบ PISA เรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งเริ่มต้นด้วยสถานการณ์ที่กลุ่มอนุรักษ์พืชและสัตว์ป่าเรียกร้องให้ยกเลิกการปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งทนต่อยาฆ่าวัชพืช เกษตรกรจึงสามารถใช้ยาฆ่าวัชพืชนั้นได้โดยไม่ส่งผลต่อข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม แต่การใช้ยาฆ่าวัชพืชนี้กลับทำลายวัชพืชเกือบทุกชนิดในไร่ข้าวโพด เมื่อมองจากมุมนี้ มันก็เกิดผลดีต่อเกษตรกร แต่เมื่อมองในมุมของนักอนุรักษ์ฯ การใช้ยาฆ่าวัชพืชนี้กลับส่งผลเสียด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะแมลงต่างๆ ก็ไม่มีวัชพืชกิน สัตว์อื่นๆ ที่กินแมลงก็พลอยขาดอาหารไปด้วย ดังนั้น มันจึงส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวม กลุ่มนักอนุรักษ์ฯ จึงเรียกร้องให้ยกเลิกการปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม จากนั้น สถานการณ์นี้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าวัชพืชใหม่ในแปลงข้าวโพด คำถาม 2 ข้อก็เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นี้ ในการนี้ ผู้เขียนมองว่า:

[Q]uestions were standard, decontextualized process questions embedded in a brief, but unnecessary story. (หน้าที่ 916)

กล่าวคือ คำถาม 2 ข้อเป็นคำถามเกี่ยวกับกระบวนการของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเรียนสามารถตอบได้เลย (หากมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์) โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในสถานการณ์

ในสมรรถนะที่ 2 “การอธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์” ผู้เขียนยกตัวอย่างข้อสอบ PISA เรื่องฝนกรด ซึ่งเริ่มต้นด้วยสถานการณ์ที่หินอ่อนแกะสลักถูกกัดกร่อนด้วยฝนที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ จากนั้น คำถาม 1 ข้อให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สภาพความเป็นกรดของฝนนี้เกิดจากแก๊สบางชนิดในอากาศ นักเรียนถูกถามให้ระบุแหล่งที่มาของแก๊สเหล่านี้ ในการนี้ ผู้เขีนนมองว่า

[I]n our analysis, these items come close to asking for recall. (หน้าที่ 916)

กล่าวคือ คำถามเช่นนี้คล้ายกับการถามความรู้/ความจำ ซึ่งนักเรียนสามารถตอบได้โดยไม่จำเป็นต้องอ่านข้อมูลในสถานการณ์

[O]ther questions like the sample Acid Rain item, could have been asked without the back story and would have very likely elicited the same kinds of responses. (หน้าที่ 916)

ในสมรรถนะที่ 3 “การใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ผู้เขียนยกตัวอย่างข้อสอบ PISA เรื่องปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเริ่มต้นด้วยการนำเสนอสถานการณ์ที่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับสาเหตุของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น โดยนักเรียนได้รับข้อมูลในรูปแบบของกราฟอุณหภูมิเฉลี่ย ณ ปีต่างๆ และกราฟปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ณ ปีต่างๆ คำถามทั้ง 3 ข้อมุ่งเน้นให้นักเรียนอ้างถึงหลักฐานในการให้เหตุผลและ/หรือในการลงข้อสรุป ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า

[T]hese items in particular were the most well aligned with our normative ideas on scientific literacy and socioscientific … (หน้าที่ 916)

กล่าวคือ คำถามเหล่านี้วัดสมรรถนะด้านการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง

ดังนั้น ผู้เขียนจึงสรุปว่า

[M]ost of the actual PISA items, at least items that have been publicly released, do not support goals articulated by the SSI movement. The items associated with the identifying scientific issues and explaining phenomena scientifically, in particular, seem quite removed from the intent of the SSI movement. [หน้าที่ 917, ตัวเอียงเป็นไปตามต้นฉบับ]

ข้อสอบ PISA ส่วนใหญ่, อย่างน้อยที่สุดข้อสอบที่ได้รับเผยแพร่สู่สาธารณะ, ไม่สนับสนุนเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสังคม โดยเฉพาะข้อสอบที่เกี่ยวกับการระบุประเด็นทางวิทยาศาสตร์ และ การอธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์  ดูจะแตกต่างไปจากเจตนารมณ์ของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสังคม [หน้าที่ 917, ตัวเอียงเป็นไปตามต้นฉบับ]

ผู้เขียนคนนี้ไม่ได้มองว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสังคมไม่ดีหรือไม่เหมาะสมในการส่งเสริมให้นักเรียนรู้วิทยาศาสตร์นะครับ เขายังเชื่อมั่นในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบนี้ แต่เขากลับมองว่า ข้อสอบ PISA ต่างหากที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้สามารถวัดคุณลักษณะของ “การรู้วิทยาศาสตร์” มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนชื่นชมคณะผู้ออกข้อสอบ PISA ที่สร้างสรรค์และนำเสนอการประเมินผลด้านการรู้วิทยาศาสตร์ที่แตกต่างไปจากข้อสอบแบบเดิมๆ

ผมขอวกกลับมาเรื่องของการอบรมเกี่ยวกับ PISA ในประเทศไทยในช่วงนี้นะครับ ผมคิดว่า มันคงจะดีกว่านี้มาก หากนักวิชาการไทยพยายามวิเคราะห์ข้อสอบ PISA “ด้านการรู้วิทยาศาสตร์” ผ่านมุมมองต่างๆ ของแนวทางการจัดการเรียนการเรียนสอนวิทยาศาสตร์ (ดังเช่นที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้น) เราจะได้รู้ว่า แนวทางใดเหมาะสมกับการส่งเสริมให้นักเรียนไทยทำข้อสอบ PISA ได้ดีขึ้น และที่ว่าเหมาะสมนั้นเหมาะสมอย่างไร

Comments

comments