ลำดับการนำเสนอความเข้าใจของนักเรียน

โดยปกติ ผลการวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับความเข้าใจของนักเรียนอยู่ในรูปแบบของ “กลุ่มความเข้าใจ” ที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกัน โดยกลุ่มความเข้าใจมีหลายแบบ ทั้งแบบที่ถูกต้องตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และแบบที่คลาดเคลื่อนไปจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ความหลากหลายของความเข้าใจจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความหลากหลายของข้อมูลดิบครับ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือว่า เวลาเรานำเสนอผลการวิจัย (ซึ่งก็คือ กลุ่มความเข้าใจของนักเรียน) เราควรนำเสนอโดยใช้ลำดับแบบใด กล่าวคือ เราจะนำเสนอจากความเข้าใจที่ถูกต้องมากไปยังความเข้าใจที่ถูกต้องน้อย หรือ เราจะนำเสนอจากความเข้าใจที่ถูกต้องน้อยไปยังความเข้าใจที่ถูกต้องมาก เราต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่งครับ เพราะเวลาเราเขียนรายงานวิจัย เราต้องเขียนไปทีละบรรทัด

ผมอยากบอกกับอาจารย์ว่า แต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียครับ ผมจะไม่ “ฟันธง” นะครับ แต่จะเล่าประสบการณ์ส่วนตัว จากการอ่านงานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา อาจารย์อาจเทียบกับประสบการณ์ของตัวเองด้วยก็ได้นะครับ

เวลาที่ผมอ่านผลการวิจัยที่เรียงจากความเข้าใจที่ถูกต้องมากไปยังความเ้ข้าใจที่ถูกต้องน้อยนั้น บางครั้ง ผมก็รู้สึกชอบครับ เพราะผมสามารถเข้าใจได้ตั้งแต่แรกเลยว่า ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ช่วยให้ผมพิจารณาได้ว่า ความเข้าใจแบบอื่นๆ ที่ตามมานั้น มีความคลาดเคลื่อนอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี เมื่ออ่านไปสักพัก ผมจะรู้สึกหดหู่นิดนึง เพราะว่ายิ่งอ่านไปเรื่อยๆ ผมก็เจอแต่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผมอ่านจบ ผมก็พบกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่สุด ในมุมมองของผม การนำเสนอผลการวิจัยแบบนี้จึงเป็นอะไรที่ “จบไม่สวย” เอาซะเลย

ในทางกลับกัน เวลาที่ผมอ่านผลการวิจัยที่เรียงจากความเข้าใจที่ถูกต้องน้อยไปยังความเข้าใจที่ถูกต้องมากนั้น บางครั้งผมก็รู้สึกตื่นเต้นครับ เพราะเมื่อผมอ่านความเข้าใจแบบแรกแล้ว ผมก็สงสัยว่า ความเข้าใจที่ถูกต้องกว่านี้เป็นยังไง ยิ่งอ่านไปผมก็ยิ่งเข้าใจถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผมอ่านจบ ผมก็รู้ว่า ความเข้าใจที่ถูกต้อง(ที่สุด)ในเรื่องนี้เป็นยังไง แต่ในบางครั้ง การอ่านไปจนถึงจุดนั้นก็ไม่ง่ายครับ ผมต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละน้อยๆ ว่า ความเข้าใจแบบนี้คลาดเคลื่อนตรงไหน หรือไม่สมบูรณ์ยังไง ผู้วิจัยบางคนก็ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ เพราะเขาหรือเธอคงคิดว่า ผู้อ่านมีความเข้าใจเรื่องนั้นดีอยู่แล้ว ซึ่งก็จริงสำหรับผู้อ่านบางคน แต่ก็ไม่จริงสำหรับผู้อ่านบางคน บ่อยครั้งที่ผมอ่านงานวิจัยบางเรื่องไม่จบ เพราะว่าผมอ่านไม่รู้เรื่องครับ ยิ่งอ่านไปก็ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ จนผมไม่เข้าใจ

ผมเล่าตรงนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้อาจารย์นะครับ เวลาที่อาจารย์เขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพนั้น อาจารย์ต้องเลือกว่า อาจารย์จะนำเสนอผลการวิจัยแบบไหน คำตอบคงไม่ใช่ว่า การเขียนแบบไหนดีกว่ากัน การเขียนที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดครับ [คำตอบแบบกำปั้นทุบดินครับ]

Comments

comments