ผมบังเอิญเจอบทความวิจัยเรื่อง “กรณีศึกษาการไตร่ตรองความคิดของครูและนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามแนวคิดสังคมวัฒนธรรม” ซึ่งผู้วิจัยพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสังคมวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้น คือ 1. ขั้นกระตุ้นความสนใจ 2. ขั้นทำกิจกรรม 3. ขั้นสร้างข้อตกลงกลุ่ม 4. ขั้นแลกเปลี่ยนและเจรจาข้อสรุป และ 5. ขั้นสร้างผลผลิต โดยมีครูชีววิทยา 1 คน นำแผนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวไปใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ในการนี้ ผู้วิจัยต้องการศึกษาว่า
ครูและนักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไรกับการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดสังคมวัฒนธรรม และมีปัจจัยใดบ้างที่ส่งเสริมและเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน[ตามแนวคิดสังคมวัฒนธรรม]
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมอยู่ในหน้าที่ 61 ซึ่งผู้วิจัยนำเสนอ “ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์[ตามแนวสังคมวัฒนธรรม]” ดังนี้ครับ
ครู…ผู้ร่วมวิจัยเห็นว่า การตั้งคำถามเพื่อซักถามนักเรียน และกระตุ้นให้เกิดการอภิปราย แสดงความคิดเห็น เป็นบทบาทที่ปฏิบัติได้ยาก
นอกจากนี้ ครูยังระบุด้วยว่า
มันเป็นการยากที่ต้องสังเกตคำตอบของนักเรียนอย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจว่า นักเรียนมีความเข้าใจในแนวคิดมากน้อยเพียงใด
ในขณะที่ นักเรียนบางคน “ขาดทักษะการสื่อสาร” ความคิดและความเข้าใจของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย
จากอีเมลล์ที่ผมได้รับมา ผมคิดว่า อาจารย์หลายท่าน ซึ่งกำลังทำวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาความเข้าใจของนักเรียน ก็คงประสบปัญหาคล้ายๆ กันอยู่ครับ อย่างไรก็ตาม ทั้งการซักถามนักเรียน การวิเคราะห์ความคิดของนักเรียน และการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดของตนเอง มีประโยชน์มากครับ อาจารย์อย่าเพิ่งท้อนะครับ อุปสรรคในช่วงเริ่มต้นเป็นเรื่องธรรมดาครับ