ตอนนี้ บทความ เรื่อง “ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการส่งเสริมการเรียนการสอน ‘ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์’ ภายนอกและภายในประเทศไทย” ได้รับการเผยแพร่แล้วนะครับ
ผมและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันเขียนบทความนี้ไว้ ทั้งนี้เพื่อแสดงความคิดเห็นว่า ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยยังแตกต่างไปจากธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ กล่าวคือ การเรียนรู้ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยยังดูคล้ายๆ กับการเรียนรู้เกี่ยวกับ “กระบวนการทางวิทยาศาสตร์” และ “จิตวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้านทักษะและด้านเจตคติ แต่การเรียนรู้ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศนั้นเป็นการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยครับ ความแตกต่างตรงนี้อาจทำให้หลายคนสับสนเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และการจัดการเรียนการสอนธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ครับ
งานวิจัยในต่างประเทศหลายเรื่องได้เสนอไว้ว่า ในการจัดการเรียนการสอนธรรมชาติของวิทยาศาสตร์นั้น ผู้สอนควรพิจารณาธรรมชาติของวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยครับ ดังจะเห็นได้จากชื่อเรื่องของงานวิจัยต่างๆ ที่มักระบุว่า “ความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์” (Understanding of NOS) “ความเข้าใจ” เป็นเรื่องของพุทธิพิสัยครับ ไม่ใช่ทั้งทักษะกระบวนการและเจตคติ
บทความนี้เป็นการสังเคราะห์จากงานวิจัยหลายๆ เรื่อง ซึ่งคงมีบางคนที่เห็นด้วย และบางคนที่ไม่เห็นด้วยครับ อาจารย์ที่จะทำ(หรือกำลังทำ)งานวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์สามารถศึกษารายละเอียดได้ครับ เราเขียนด้วยเจตนาดี และไม่ประสงค์จะวิพากษ์ใครครับ