ไม่ใช่แค่ความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับเนื้อหาเท่านั้น

มันแทบจะกลายเป็นสัจธรรมไปแล้วนะครับสำหรับความคิดที่ว่า

นักเรียนไม่ได้เข้าสู่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยสมองที่ว่างเปล่า เพื่อ “รับ” หรือ “เติมเต็ม” ความรู้จากครู หากแต่นักเรียนมีความเข้าใจเดิมบางอย่างเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของนักเรียนเอง

งานวิจัยหลายเรื่องในโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” ก็สนับสนุนความคิดข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ ภาษา และอื่นๆ ในการสร้างความหมายของสิ่งและปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว “ก่อน” ที่ครูจะสอนพวกเขาและเธอด้วยซ้ำไป สิ่งที่ติดตัวนักเรียนมาเหล่านี้มักมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของนักเรียนครับ ซึ่งอาจเป็นทางบวกหรือทางลบก็ได้ แต่มันไม่ใช่แค่นั้นครับ มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นอีก

นอกจากความเข้าใจเดิมที่นักเรียนมีมา “ก่อน” การเรียนการสอนแล้ว สิ่งที่ติดตัวนักเรียนมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้” และ/หรือ “ความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาซึ่งความรู้” ครับ ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “Epistemological view” และ/หรือ “Epistemological consideration” ซึ่งก็แล้วแต่ว่า ใครจะชอบใช้คำอะไร ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้นี้มักเป็นผล(ข้างเคียง)ที่เกิดขึ้นจากวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนในอดีต และแน่น่อนว่า มันจะส่งผลต่อวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนในอนาคต

งานวิจัยในต่างประเทศหลายเรื่องได้ศึกษา “ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้” ของนักเรียน ตัวอย่างเช่น ในบทความวิจัยเรื่อง ““Laboratory exercises help me memorize the scientific truths”: A study of eighth graders’ scientific epistemological views and learning in laboratory activities” ผู้วิจัยศึกษา “ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้” ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 25 คน ทั้งโดยการใช้แบบสอบถาม การสังเกตในขณะที่นักเรียนทำกิจกรรม และการสัมภาษณ์ ในการนี้ ผู้วิจัยจัด “ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้” ของนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “ความเชื่อแบบ constructivist” และ “ความเชื่อแบบ empiricist” หากนักเรียนมีความเชื่อแบบแรก พวกเขาและเธอจะเน้นการอภิปรายเกี่ยวกับผลการทำกิจกรรม เพื่อ “สร้าง” ความรู้ร่วมกัน หากนักเรียนมีความเชื่อแบบหลัง พวกเขาและเธอจะเน้นการทำกิจกรรม เพื่อ “ยืนยัน” และ “จดจำ” สิ่งที่ครูสอนหรือเนื้อหาในหนังสือ งานวิจัยในปัจจุบันเน้นให้เกิดความเชื่อแบบแรกมากกว่าความเชื่อแบบหลังครับ

ในบทความวิจัยเรื่อง “Epistemological considerations in teaching introductory physics” ผู้วิจัยนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งครับ เขาพบว่า “ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้” ของนักเรียน สามารถมีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนของครูด้วยเช่นกัน กล่าวคือ แม้ว่าครูตั้งใจและพยายามจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียน “สร้าง” ความรู้ด้วยตนเอง ผ่านการทำกิจกรรมแบบลงมือปฏิบัติและการอภิปรายกลุ่ม (นั่นคือ การจัดการเรียนการสอนตามความเชื่อแบบแรก) แต่หากนักเรียนมีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ว่า ความรู้ได้มาจากการบอกโดยครูและจากการอ่านหนังสือ นักเรียนก็จะไม่เข้าใจเจตนาของการลงมือปฏิบัติและการอภิปรายกลุ่ม และหากแย่กว่านั้น นักเรียนอาจไม่เห็นคุณค่าของการลงมือปฏิบัติและการอภิปรายกลุ่มเลย ดังนั้น “ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้” ที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างของครูและของนักเรียน อาจทำให้การเรียนการสอนอยู่ในสภาวะ “ครึ่งๆ กลางๆ” และสร้างความกดดันให้กับครูได้ครับ

อาจารย์ลองนึกภาพตอนที่อาจารย์ถามคำถามเพื่อให้นักเรียนคิดหาคำตอบ แล้วนักเรียนนั่งนิ่งเพื่อรอคำตอบจากอาจารย์ อาจารย์รอแล้วรออีก แต่นักเรียนก็ไม่ตอบ ในท้ายที่สุด อาจารย์ทนไม่ไหวแล้วก็เฉลยคำตอบนั้นไป อันนี้เป็นตัวอย่างสมมติที่แสดงว่า “ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้” ของนักเรียนสามารถมีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนของครูได้ครับ

Comments

comments