ในช่วงก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “Situated Learning: Legitimate Peripheral Participation” หนังสือเ่ล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Situated Learning ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นบริบททางสังคมและวัฒนธรรม กระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ลักษณะนี้มีชื่อว่า “Legitimate Peripheral Participation” ซึ่งผมแปลเป็นภาษาไทยว่า “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” อาจารย์ที่ยังไม่คุ้นเคยกับ Situated Learning ก็ลองอ่านเนื้อหาย้อนหลังได้ครับ
ผมยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งครับ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Situated Learning หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Communities of Practice: Learning, Meaning, and Identity” (ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือหนึ่งในผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “Situated Learning: Legitimate Peripheral Participation” ครับ) เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอแนวคิดที่มีชื่อว่า “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” (Community of practice) ซึ่งเป็นบริบทที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้จาก “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” หากเราลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดนี้ในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษา เราก็จะพบงานวิจัยอยู่หลายเรื่องเหมือนกันครับ ตัวอย่างเช่น
- LabNet: Toward a Community of Practice
- Science Education as/for Participation in the Community
- From Science Teacher to Teacher Leader: Leadership Development as Meaning Making in a Community of Practice
ดังนั้น เราลองมาศึกษาแนวคิด “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” จากหนังสือเรื่อง “Communities of Practice: Learning, Meaning, and Identity” กันดีกว่าครับ ทั้งหมดนี้เป็นการตีความของผมเอง
แม้ในหนังสือเล่มข้างต้น ผู้เขียนไม่ได้ให้นิยามโดยตรงว่า “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” คืออะไร แต่ผมขอสรุปง่ายๆ ว่า “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” ก็คือกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานเดียวกันครับ เช่น กลุ่มคนที่ปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ (นั่นคือ นักวิทยาศาสตร์) กลุ่มคนที่สอนวิทยาศาสตร์ (นั่นคือ ครูวิทยาศาสตร์) และ กลุ่มคนที่พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (นั่นคือ นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์) คำว่า “ชุมชน” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มคนเหล่านั้นต้องอยู่รวมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนะครับ กลุ่มคนเหล่านี้อาจอยู่ห่างกันคนละซีกโลกก็ได้ครับ คำว่า “ชุมชน” ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มคนเหล่านี้ต้องสามัคคีกันหรือมีความคิดที่สอดคล้องกัน กลุ่มคนเหล่านี้ทะเลาะกันได้ เกลียดชังกันได้ และชิงดีชิงเด่นกันได้ครับ คำว่า “ชุมชน” ในที่นี้มีความหมายแค่ว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีการปฏิบัติงานเดียวกัน ลักษณะ 3 ประการที่แสดงถึงความเป็น “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” ประกอบด้วย
- การมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ (Mutual engagement)
- การมีเป้า้หมายและวัตถุประสงค์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน (Joint enterprise)
- การแลกเปลี่ยนและใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Shared repertoire)
ผมค่อยนำเสนอลักษณะ 3 ประการข้างต้นอย่างละเอียดทีหลังนะครับ ผมขอนำเสนอก่อนว่า “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” เกี่ยวข้องอะไรกับการเรียนรู้จาก “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม”
“ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” ใดๆ ก็ตามมักประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานนั้นๆ หลายระดับ เช่น กลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญ (มืออาชีพ) กลุ่มคนที่อยู่ระดับกลางๆ (คนที่เชี่ยวชาญบางเรื่อง และไม่เชี่ยวชาญบางเรื่อง) และกลุ่มคนที่มือใหม่และกำลังเรียนรู้เรื่องต่างๆ ในการนี้ ผู้ที่เป็นมือใหม่ต้องได้รับการยอมรับในเบื้องต้นจากผู้ที่เป็นมืออาชีพในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของ “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” นั้นก่อน จากนั้น ผู้ที่เป็นมือใหม่ต้องผ่านการเรียนรู้การปฏิบัติงานแต่ละด้าน ตั้งแต่ด้านที่มีความซับซ้อนน้อยไปยังด้านที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ในการนี้ ผู้ที่เป็นมือใหม่ก็ต้องเรียนรู้จากมืออาชีพเพื่อให้ตนเองมีความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงขึ้น การเรียนรู้ภายใน “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” นี้จึงไม่ใช่การเรียนรู้ “เพื่อรู้” เท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ “เพื่อปฏิบัติงาน” นั้นให้ได้, “เพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับ” จากสมาชิกในชุมชนนั้น, “เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง” ของชุมชนนั้น, และ “เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง” ในชุมชนนั้น การเรียนรู้นี้จึงเป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองของผู้ที่เป็นมือใหม่ ผลของการเรียนรู้นี้จึงมีพลังมาก เพราะมันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคน 1 คน จากมือใหม่ไปเป็นมืออาชีพใน “ชุมชนแห่งการปฏิบัติการ” นั้น
อันที่จริง เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีความซับซ้อนมากกว่านี้นะครับ ในโลกแห่งความเป็นจริง “ชุมชนแหง่การปฏิบัติงาน” มีอยู่หลากกลาย ซึ่งคน 1 คน อาจเป็นสมาชิกของ “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” เหล่านั้นในระดับที่แตกต่างกัน คนเดียวกันอาจเป็นมืออาชีพใน “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” หนึ่ง แต่เป็นมือใหม่ในอีก “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” หนึ่ง และเป็นมือกลางๆ ในอีก “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” หนึ่งก็ได้ ตัวอย่างเช่น นาย ก. อาจเป็นมืออาชีพในวงการมือถือ แต่เป็นมือใหม่ในวงการพระเครื่อง และเป็นมือกลางๆ ในวงการถ่ายภาพ เป็นต้น การที่คน 1 คน อยู่ในหลาย “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” ได้เช่นกัน
กลุ่มคนที่สอนวิทยาศาสตร์ก็เป็น “ชุมชนแห่งการปฏิบัติการ” หนึ่ง และนักการศึกษาหลายท่านก็กำลังพยายามส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จาก “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” ภายใน “ชุมชนแห่งการปฏิบัติการ” แห่งนี้ครับ
อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า มันไม่จำเป็นที่คน 1 คน จะต้องพัฒนาตัวเองไปเป็นมืออาชีพในทุกๆ “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” บางคนอาจมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเป็นมืออาชีพใน “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” หนึ่ง แต่เขา/เธอคนนั้นอาจเลือกที่จะหยุดตัวเองไว้แค่มือระดับกลางๆ ในอีก “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” หนึ่ง ทั้งนี้เพราะเขา/เธอเห็นว่า การมีความเชี่ยวชาญเพียงระดับนั้นก็พอแล้ว
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ซึ่งเป็นนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขาจึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเป็นมืออาชีพในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ทั้งนี้เพราะมันเป็นอาชีพของเขา) แต่ในขณะเดียวกัน เขามีความสนใจเรื่องการถ่ายภาพ แต่เขาไม่ได้ตั้งความคาดหวังไว้ว่า เขาต้องเป็นมืออาชีพด้านการถ่ายภาพ เขาต้องการแค่พอรู้และสามารถถ่ายภาพได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เขาพอใจในการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในวงการถ่ายภาพ และต้องการรักษาสถานภาพของตนเองในการเป็นสมาชิกนั้นไปเรื่อยๆ และในระหว่างนี้ เขาก็ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพจากมืออาชีพในวงการถ่ายภาพอยู่ครับ