มันมีความเชื่อกันว่า การศึกษาประวัติวิทยาศาสตร์ (History of Science: HOS) จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Nature of Science: NOS) ได้ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะประวัติวิทยาศาสตร์สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องใดๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่งานวิจัยเรื่อง “The Influence of History of Science Courses on Students’ Views of Nature of Science” ให้ผลการวิจัยที่ว่า ความเชื่อนี้อาจไม่จริงเสมอไป
จากการศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนจำนวน 181 คน ที่ลงทะเบียนเรียน “ประวัติวิทยาศาสตร์” 3 วิชา [ผู้เรียน 1 คนอาจเรียนมากกว่า 1 วิชา] โดยแต่ละวิชามีผู้สอนที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูลโดยใช้ “แบบสอบถามมุมมองธรรมชาติของวิทยาศาสตร์” ทั้งก่อนและหลังการเรียนในแต่ละวิชา ร่วมกับการสุ่มผู้เรียนจำนวนหนึ่งมาทำการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเข้าสังเกตการจัดการเรียนการสอนในแต่ละวิชา ทั้งนี้เพื่อพิจารณาว่า ผู้สอนได้กล่าวถึง “ลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์” บ้างหรือไม่
ผู้วิจัยทำวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เรียนแต่ละคนโดยการจัดกลุ่มความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์แต่ละลักษณะออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มที่มีความเข้าใจแบบไร้เดียงสา (Naive View) และ 2. กลุ่มที่มีความเข้าใจอย่างรอบรู้ (Informed View) จากนั้น ผู้วิจัยทำการเปรียบเทียบจำนวนผู้เรียนที่มีพัฒนาการทางความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์แต่ละลักษณะ
ผลการวิจัยปรากฏว่า รายวิชาประวัติวิทยาศาสตร์มีอิทธิพลน้อยมากต่อความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของผู้เรียน ดังเช่นที่ผู้วิจัยเขียนสรุปไว้ว่า (หน้าที่ 1085)
That the participant HOS courses had only minimal influence on students’ NOS views is probably the most significant finding of this study. This finding does not lend empirical support to the assertion that coursework in HOS would improve students’ NOS views …
กล่าวคือ ผู้เรียนจำนวนน้อยเท่านั้นที่แสดงถึงพัฒนาการของความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ผลการวิจัยนี้จึงไม่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมที่ว่า การศึกษาประวัติวิทยาศาสตร์จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์
จากการวิเคราะห์ผลการสังเกตการจัดการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาที่ผู้เรียน(จำนวนน้อย)มีความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น ผู้วิจัยเห็นว่าผู้สอนได้มีการกล่าวถึงและอภิปรายเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์อย่างชัดแจ้งและบ่อยครั้ง ดังนั้น มันจึงเป็นไปได้ว่า การกล่าวถึงและอภิปรายเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์อย่างชัดแจ้งมีส่วนช่วยในการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของผู้เรียน(จำนวนน้อย)เหล่านี้
ในการนี้ ผู้วิจัยได้อภิปรายผลการวิจัยนี้ว่า การให้ผู้เรียนศึกษาประวัติวิทยาศาสตร์ยังไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ได้ ทั้งนี้เพราะผู้เรียนมักตัดสินเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจุุบัน กล่าวคือ ผู้เรียนอาจตีความไปว่า ความพยายามในการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในอดีตเป็นสิ่งผิดและไม่ควรเกิดขึ้น ผู้เรียนอาจไม่ได้คิดย้้อนไปว่า กระบวนการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องนั้นๆ ในอดีตเป็นอย่างไร อยู่ภายใต้เงื่อนไขใด และเกี่ยวข้องกับปัจจัยใดบ้าง ดังเช่นที่ผู้วิจัยเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า (หน้าที่ 1086)
[P]articipants seemed to have interpreted the historical narratives from within current scientific knowledge and practices rather than from within any other alternative framework with which they were presented.
ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงเสนอว่า หากการศึกษาประวัติวิทยาศาสตร์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ผู้สอนอาจจำเป็นต้องมีการกล่าวถึงและอภิปรายเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในบริบทปัจจุบัน(หรือร่วมสมัย)ก่อน จากนั้น ผู้สอนจึงให้ผู้เรียนได้ศึกษาประวัติการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในอดีต พร้อมทั้งชี้ให้ผู้เรียนเห็นลักษณะร่วมของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ทั้งใน 2 บริบท (ปัจจุบันและอดีต) ดังเช่นที่ผู้วิจัยเขียนไว้ว่า (หน้าที่ 1086 – 1087)
[I]f students are expected to discern “lessons” about NOS from historical narratives, then they should be helped to recognized the similarity between such narratives and current scientific practices.
จากการอ่านงานวิจัยนี้ ผมสรุปได้ว่า เราควรใช้ประวัติวิทยาศาสตร์ “ร่วมกับ” การกล่าวถึงและอภิปรายเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ