เราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับการใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า (Likert scale) สำหรับการศึกษาความเข้าใจของนักเรียนเรื่องต่างๆ นะครับ ส่วนใหญ่มักเป็นการใช้แบบทดสอบ (ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น แบบเลือกตอบ แบบเขียนตอบ และแบบวาดแผนภาพ เป็นต้น) ร่วมกับการสัมภาษณ์นักเรียนด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราพบเห็นบ่อยๆ ในการวิจัยเพื่อศึกษาความเข้าใจของนักเรียน
อย่างไรก็ดี มันไม่ได้หมายความว่า วิธีการศึกษาความเข้าใจของนักเรียนมีอยู่แค่นั่น นักวิจัยอาจใช้เครื่องมืออย่างอื่นได้ด้วยเช่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า” ตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยเรื่อง “Thai In-service Science Teachers’ Conceptions of the Nature of Science” ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่าเพื่อศึกษาว่า ครูมีความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์กันอย่างไร แต่เราอาจคุ้นเคยกับเครื่องมือชนิดนี้ในการศึกษาการรับรู้ ความรู้สึก ความพอใจ และความตระหนักมากกว่าการศึกษาความเข้าใจ
นักวิจัยในต่างประเทศบางคนได้ใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่าในการศึกษาความเข้าใจของนักเรียนเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” และ “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ดังตัวอย่างงานวิจัยเหล่านี้
- The ‘Greenhouse Effect’: Children’s Perceptions of Cause, Consequences and Cures
- Knowledge about the ‘Greenhouse Effect’: Have College Students Improved?
- Turkish Students’ Ideas about Global Warming
ในงานวิจัยข้างต้น ผู้วิจัยใช้เครื่องมือเดียวกัน (นั่นคือแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า) โดยผู้วิจัยกำหนดข้อความต่างๆ มาเพื่อให้นักเรียนเลือกตอบว่า ตนเองเห็นด้วยกับแต่ละข้อความในระดับใด ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระดับ (เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง) ข้อความที่ผู้วิจัยกำหนดมานั้นก็อาจเกี่ยวข้องกับ “ภาวะโลกร้อน” และ/หรือ “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” หรือไม่ก็ได้
[ผมขอแทรกตรงนี้หน่อยนะครับเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน บางท่านอาจคิดว่า “ภาวะโลกร้อน” และ “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” เป็นอันเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่นะครับ ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ทั้งนี้เพราะแก๊สเรือนกระจกดูดกลืนรังสีความร้อนที่พื้นโลกปลดปล่อยออกมาให้อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก และไม่ถูกปลดปล่อยกลับสู่อวกาศ
ผมกลับมาที่แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่าในงานวิจัยข้างต้นอีกครั้งนะครับ ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดข้อความให้นักเรียนเลือกตอบว่า ตนเองเห็นด้วยกับแต่ละข้อความในระดับใด ตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยเรื่อง “Turkish Students’ Ideas about Global Warming” ผู้วิจัยถามนักเรียนอายุ 15 – 16 ปีว่า “ถ้าปรากฏการณ์เรือนกระจกรุนแรงขึ้น อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง” แล้วให้นักเรียนเลือกแสดงว่า ตนเองเห็นด้วยในระดับใดกับข้อความต่อไปนี้
- โลกจะมีอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น
- ผู้คนจะต้องกินอาหารที่เป็นพิษ
- น้ำท่วมจะเกิดขึ้นมากและบ่อยขึ้น
- ปลาในแม่น้ำจะปนเปื้อนสารพิษ
- น้ำประปาจะไม่สะอาดและปลอดภัย
- ผู้คนจะเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น
- แมลงและวัชพืชในไร่น่าจะมีมากขึ้น [ในบริบทของทวีปยุโรป]
- สภาพอากาศของโลกจะเปลี่ยนแปลง
- ผู้คนจะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
- ทะเลทรายในโลกนี้จะมีมากขึ้น
- น้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายมากขึ้น
- แผ่นดินไหวจะเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น
ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ผู้วิจัยก็ได้แบ่งคำตอบออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่เห็นด้วยกับข้อความ (ซึ่งก็คือกลุ่มที่ตอบว่า “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ “เห็นด้วย”) 2. กลุ่มที่ไม่แน่ใจ และ 3. กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับข้อความ (ซึ่งก็คือกลุ่มที่ตอบว่า “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ “ไม่เห็นด้วย”)
เนื่องจากข้อความที่ผู้วิจัยกำหนดให้มานั้นมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นผลของปรากฏการณ์เรือนกระจก ผู้วิจัยก็วิเคราะห์โดยการค่าร้อยละว่า กลุ่มที่มีความเข้าใจถูกต้องมีนักเรียนร้อยละเท่าไร และกลุ่มที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนมีนักเรียนร้อยละเท่าไร
ผลการวิจัยปรากฏว่า นักเรียนส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้องว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจกทำให้โลกมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น (>60%) ซึ่งส่งผลอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น (>60%) สภาพอากาศของโลกจะเปลี่ยนแปลง (>60%) แมลงและวัชพืชในไร่น่าจะมีมากขึ้น (>50%) และน้ำท่วมจะเกิดมากและบ่อยขึ้น (>40%)อย่างไรก็ดี นักเรียนส่วนน้อยเข้าใจว่า ทะเลทรายในโลกนี้จะมีมากขึ้นด้วย (≈10%)
ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนส่วนใหญ่กลับเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจกทำให้ผู้คนเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น (>40%) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้คนได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตที่เดินทางมาผ่านชั้นบรรยากาศยังพื้นโลกมากขึ้น อันเนื่องมาจากรูโหว่โอโซนที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า นักเรียนเหล่านี้กำลังสับสนระหว่าง “ภาวะโลกร้อน” และ “รูโหว่โอโซน” [ใครสนใจเรื่องนี้เพิ่มเติมลองอ่านคำอธิบายของ Greenpeace Thailand นะครับ]
อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งนะครับที่แสดงว่า เราสามารถใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่าในการศึกษาความเข้าใจเดิมของนักเรียนได้