บทความทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการตั้งคำถามของนักเรียน

ในโพสเรื่อง “การส่งเสริมความสามารถในการตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์” ผมเคยเกริ่นและตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ทั้งๆ การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางหลักที่ครูควรใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และทั้งๆ ที่การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ (หากไม่ใช่ทั้งหมด) เริ่มต้นมาจากคำถามทางวิทยาศาสตร์ แต่งานวิจัยที่ศึกษาและพัฒนาความสามารถของนักเรียนไทยเกี่ยวกับการตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์ก็ยังคงมีอยู่น้อย มันจึงเป็นไปได้ยากนะครับ หากการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นจริงๆ ในห้องเรียน โดยที่นักเรียนไม่สามารถตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตัวเอง

ผมได้ลองสืบค้นดูว่า นักวิจัยในต่างประเทศให้ความสนใจเรื่องนี้กันอย่างไร ผมก็พบงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่กล่าวถึง “การตั้งคำถามของนักเรียน” ตัวอย่างเช่น ในบทความเรื่อง “Students’ Questions: A Potential Resource for Teaching and Learning Science” ผู้เขียนได้สรุปงานวิจัยเกี่ยวกับการตั้งคำถามของนักเรียนในหลายประเด็น ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป 5 ประเด็นหลัก ดังนี้ครับ

ประเด็นแรกกล่าวถึงความสำคัญและบทบาทของคำถามของนักเรียนในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนได้สรุปไว้ว่า คำถามของนักเรียนนั้นมีศักยภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนเอง กล่าวคือ (1) มันช่วยให้นักเรียนกำหนดทิศทางการเรียนรู้ของตนเองได้ และรู้ว่าตนเองต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรหรือประเด็นไหนเพิ่มเติม (2) มันช่วยให้นักเรียนเกิดการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน (3) มันช่วยให้นักเรียนประเมินตนเองและตระหนักว่า ตนเองยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจเรื่องอะไรหรือประเด็นไหนบ้าง และ (4) มันช่วยเสริมสร้างความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจของนักเรียนในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน หากนักเรียนรู้จักและสามารถตั้งคำถามกับตนเอง

ประเด็นที่สองกล่าวถึงประโยชน์ของคำถามของนักเรียนที่มีต่อครูในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนสรุปไว้ว่า เมื่อนักเรียนตั้งคำถามกับครู ครูจะได้และใช้ประโยชน์จากคำถามของนักเรียน ดังต่อไปนี้ (1) ครูสามารถวิเคราะห์ได้ว่า นักเรียนเข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองกำลังสอนอย่างไรบ้าง  (2) ครูสามารถประเมินกระบวนการคิดของนักเรียนว่าอยู่ในระดับ โดยพิจารณาจากลักษณะของคำถามที่นักเรียนแต่ละคนถาม นักเรียนบางคนอาจถามคำถามที่เน้นความจำ ในขณะที่นักเรียนบางคนอาจถามคำถามขั้นสูงกว่านั้น เช่น คำถามที่เน้นการวิเคราะห์ เชื่อมโยง และสังเคราะห์ข้อมูล (3) ครูสามารถนำคำถามของนักเรียนไปต่อยอดในการให้นักเรียนทำการสืบเสาะหรือโครงงานตามความสนใจของนักเรียนเอง และ (4) ครูสามารถนำคำถามของนักเรียนเป็นผลย้อนกลับเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของตนเอง

ประเด็นที่สามเกี่ยวข้องกับงานวิจัยเกี่ยวข้องกับคำถามของนักเรียน ซึ่งมีหลายประเด็นย่อย ดังนี้ครับ (1) งานวิจัยบางเรื่องเน้นศึกษาธรรมชาติของของคำถามที่นักเรียนถาม ทั้งในแง่ของปริมาณของคำถาม และคุณภาพของคำถาม พร้อมทั้งจัดประเภทของคำถาม ซึ่งนักวิจัยแต่ละคนก็อาจมีแนวคิดในการจัดประเภทของคำถามแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้ว นักวิจัยมักให้คุณค่ากับคำถามที่แฝงกระบวนการคิดขั้นสูงของนักเรียน “มากกว่า” คำถามที่เน้นความจำ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเน้นว่า คำถามทุกประเภทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การตัดสินว่าคำถามใดมีประโยชน์แค่ไหนนั้นไม่ควรขึ้นอยู่กับนักวิจัย แต่ควรขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของคำถาม (นักเรียน)ต้องการคำตอบของคำถามไปใช้ประโยชน์อย่างไร (2) งานวิจัยบางเรื่องศึกษาผลของการจัดการเรียนการสอนที่มีต่อความสามารถในการตั้งคำถามของนักเรียน นักวิจัยบางคนให้นักเรียนอ่านบทความทางวิทยาศาสตร์ แล้วฝึกตั้งคำถามจากการอ่านบทความนั้น นักวิจัยบางคนฝึกให้นักเรียนแยกแยะว่า คำถามใดบ้างที่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์สามารถตอบได้ พร้อมทั้งให้นักเรียนฝึกตั้งคำถามที่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์สามารถตอบได้ และ (3) งานวิจัยบางเรื่องใช้การอภิปรายในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนตั้งและตอบคำถามกับเพื่อนๆ ในสถานการณ์หรือเนื้อหาที่ครูสร้างขึ้น ประเด็นหลักของการวิจัยด้านนี้คือว่า นักเรียนจะมีความสามารถในการตั้งคำถามที่ดีขึ้น (จำนวนคำถามเพิ่มขึ้นและคุณภาพของคำถามดีขึ้น) หากนักเรียนได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม โดยครูอาจจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนกับนักเรียนว่า คำถามที่ดีหรือที่ครูต้องการให้เกิดขึ้นควรมีลักษณะอย่างไร

ประเด็นที่สี่กล่าวถือตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามของนักเรียน (ซึ่งบางตัวแปรก็ยังไม่ชัดเจนว่า มันส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับคำถามของนักเรียนหรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร) ตัวอย่างเช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รูปแบบ(หรือลีลา)การเรียนรู้ของนักเรียน สถานการณ์การเรียนรู้ อายุและระดับชั้น ธรรมชาติของการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น แต่โดยหลักๆ แล้ว การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการลงมือปฏิบัติ การอภิปราย และการสะท้อนความคิดเอื้อให้นักเรียนพัฒนาความสามารถในการตั้งคำถามได้ดีกว่าการสอนแบบบรรยาย

ประเด็นที่ห้า (ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้าย) กล่าวถึงการตอบสนองของครูเมื่อนักเรียนตั้งคำถาม และการรับรู้ของนักเรียนด้วยกันเองเมื่อมีคำถามเกิดขึ้นในชั้นเรียน งานวิจัยระบุว่า ครูมองคำถามของนักเรียนว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็เป็นดังที่ปรากฏในประเด็นที่ (1) และ (2) ก่อนหน้านี้ แต่ข้อเสียคือว่า ครูอาจมองว่า คำถามของนักเรียนบางครั้งก็ขัดจังหวะการจัดการเรียนการสอน และยิ่งไปกว่านั้น คำถามของนักเรียนอาจทำให้ครูเสียความมั่นใจ หากครูไม่ทราบคำตอบของคำถามนั้น ในการนี้ ผู้วิจัยอ้างงานวิจัยเรื่อง “Implications of Students’ Questions for Science Teaching” เพื่อแสดงว่า ครูมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง เมื่อนักเรียนตั้งคำถามที่ตนเองไม่สามารถตอบได้ทันที ครูร้อยละ 92 จะขอนักเรียนค้างไว้ก่อน แล้วจะไปศึกษาและมาตอบทีหลัง ครูร้อยละ 85 จะตอบเท่าที่ตัวเองรู้ไปก่อน (แม้ตนเองจะไม่แน่ใจในคำตอบนั้นก็ตาม) ครูร้อยละ 54 จะถามนักเรียนทั้งชั้นเพื่อเสนอคำตอบที่เป็นไปได้ร่วมกัน ครูร้อยละ 46 จะเพิกเฉยหรือแกล้งไม่สนใจคำถามนั้นไปเลย และครูร้อยละ 23 จะสั่งการบ้านให้นักเรียนตอบคำถามนั้นเอง (จำนวนร้อยละของครูรวมกันได้มากกว่า 100 นะครับ เพราะครูคนนึงอาจใช้หลายวิธี) ในส่วนของนักเรียนนั้น นักเรียนเห็นว่า การตั้งคำถามเป็นเรื่องดี แต่การถามคำถามใดๆ กับครูก็ต้องผ่านการพิจารณามาให้ดีว่า เพื่อนๆ จะมองคำถามนั้นเป็นคำถามโง่ๆ หรือไม่ ครูจะยอมรับคำถามนั้นหรือไม่ และอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เมื่อตนเองถามคำถามนั้นไปแล้ว

จากการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการตั้งคำถามของนักเรียน เราก็จะเห็นนะครับว่า มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควรเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะมันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก (ทั้งครูและนักเรียนหลายคน) บริบทแวดล้อม และปัจจัยซ่อนเร้นอีกมากมาย อย่างไรก็ดี หากเรายังต้องการพัฒนานักเรียนให้เป็นคนที่สามารถตั้งคำถามและสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเอง ยังไงเสียเราก็ต้องทำเรื่องพวกนี้ให้เกิดจริงให้ครับ

ผมขออภัยด้วยนะครับที่ไม่ได้อ้างอิงเลขหน้าของบทความต้นฉบับ (ดังที่ผมพยายามทำมาโดยตลอด) บทความต้นฉบับมีรายละเอียดเยอะเกินไปหน่อย ใครที่สนใจก็ลองหาบทความนี้มาอ่านเพิ่มเติมเองนะครับ

Comments

comments