เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้รับคำถามจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ คำถามมีดังนี้ครับ
มีคำถามว่า (ถ้า)แบบวัดแนวคิดที่มี 2 ตอน เช่น
1) ลักษณะทางพันธุกรรมทุกลักษณะเป็นไปตามหลักพันธุศาสตร์ของเมนเดล
ก. ถูกต้อง
ข. ไม่ถูกต้อง
เหตุผล ……………………………………………………………………………….
หากนักเรียนตอบตอนที่ 1 ถูก แต่ตอนที่ 2 ตอบผิดหรือไม่ตอบ เราจะจัดกลุ่มแนวคิดไว้ในกลุ่มไหน
* ถ้า้เราจัดไว้ใน(กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) เราก็ไม่แน่ใจว่า (คำตอบจาก)ตอนที่ 1 นั้น(มา)จากการเดาหรึอเปล่า
ในการตอบคำถามนี้ ผมขอยกบทความวิจัยเรื่อง “Thai In-Service Science Teachers’ Conceptions of the Nature of Science” ของ ผศ.ดร. ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของครูวิทยาศาสตร์ โดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งมีชื่อว่า “the Myths of Science Questionnaire” (ผู้ที่สนใจสามารถดูได้จากภาคผนวกของบทความวิจัยนี้ครับ) แบบสอบถามนี้มี 14 ข้อ โดยแต่ละข้อมีข้อความ 1 ประโยคเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แล้วให้ครูวิทยาศาสตร์เลือกตอบว่า “เห็นด้วย” “ไม่แน่ใจ” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ในขณะเดียวกัน ผู้วิจัยยังมีช่องให้ครูวิทยาศาสตร์เขียนเหตุผลของการเลือกตอบในแต่ละข้อ
เราพิจารณาได้ว่าแบบสอบถามนี้เป็นแบบ 2 ชั้น (Two Tier) คือ ชั้นที่ 1 เป็นการถามความคิดเห็น และชั้นที่ 2 เป็นการถามเหตุผลของความคิดเห็นนั้น
คราวนี้ เราลองมาดูการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามนี้ โดยผู้วิจัยระบุไว้ในหน้า 197 – 198 ดังนี้
The frequency of each response (i.e., agree, uncertain, and disagree) was counted and its percentage was subsequently calculated based on the presence of responses. […] However, ‘one’s view of the NOS is a complex web of ideas that loses meaning when reduced to simple numbers’ (Palmquist & Finley, 1997, p. 601). Therefore, the written arguments supporting each response were categorised. In addition, the frequency and percentage for each category were counted and calculated. In the case where the written responses contradict the agree-uncertain-disagree responses, the attention is mainly paid to the written responses and the agree-uncertain-disagree responses were subsequently re-categorised. [Emphasis added]
ผมแปลเป็นไทยเฉพาะส่วนที่เป็นตัวหนา ได้ความว่า
ในกรณีที่คำตอบที่ได้จากการเขียนขัดแย้งกับคำตอบที่เป็นแบบเลือกตอบ (“เห็นด้วย ไม่แน่ใจ และไม่เห็นด้วย”) ความสนใจจะมุ่งไปที่คำตอบแบบเขียน และ คำตอบที่เป็นแบบเลือกตอบจะถูกนำมาจัดกลุ่มใหม่
นั่นคือ เราจะให้ความสำคัญกับข้อมูลในส่วนที่ 2 (เหตุผล) มากกว่าข้อมูลในส่วนที่ 1 (คำตอบ) นี่เป็นแนวทางหนึ่งครับ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การทิ้งข้อมูลส่วนนี้ไป เพราะเราถือว่า ข้อมูลนั้นไม่สมบูรณ์เพียงพอต่อการตีความ
ผมขอเสริมว่า แนวทางหลังเหมาะสม เมื่อเรามีข้อมูลจำนวนมาก แต่ถ้าเรามีข้อมูลอยู่น้อย แนวทางแรกดูจะเหมาะสมกว่าครับ
สิ่งสำคัญที่ผมอยากให้อาจารย์สังเกตเห็นคือว่า การที่ผู้วิจัยสามารถบรรยายกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างละเอียดนั้นเป็นเพราะว่า ผู้วิจัยได้ทำการบันทึกกระบวนการจัดกระทำข้อมูลทั้งหมดไว้ (ซึ่งก็คือการทำ Audit Trail นั่นเอง) แล้วผู้วิจัยจึงนำสิ่งที่ได้บันทึกไว้มาเขียนบรรยายในรายงานวิจัยให้ผู้อ่านทราบ (ซึ่งก็คือการทำ Thick Description นั่นเอง)
เรากลับมาพิจารณาคำถามของอาจารย์ข้างต้นนิดนึงนะครับ ผมว่าคำถามยังเป็นปลายปิดมากเลยนะครับ มันเหมือนคำถามแบบถูกผิดเลย หากเป็นไปได้ อาจารย์เจ้าของคำถามอาจลองปรับคำถามให้เป็นปลายเปิดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่นักเรียนจะตอบถูกเพราะการเดา (ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจารย์เองกังวลอยู่) ได้ครับ
อีกแนวทางหนึ่งคือว่า อาจารย์สัมภาษณ์นักเรียนเพิ่มเติมครับ เพื่อให้ทราบสาเหตุว่า ทำไมคพตอบของนักเรียนแต่ละส่วนไม่สอดคล้องกัน