ตัวอย่างงานวิจัยแบบต่อเนื่อง (จากเล็กไปใหญ่)

ตอนแรกที่ผมหยิบงานวิจัยเรื่อง “A Typology of Undergraduate Students’ Conceptions of Size and Scales: Identifying and Characterizing Conceptual Variation” มาอ่านนั้น ผมสนใจว่า ผลของงานวิจัยนี้เป็นอย่างไร ถึงแม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังอ่านงานวิัจัยเรื่องนี้ไม่จบ แต่ผมคิดว่า กระบวนการวิจัยเรื่องนี้น่าสนใจครับ และน่าจะเป็นแนวทางสำหรับอาจารย์ที่ต้องการทำวิจัยเชิงคุณภาพในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้

ผมขอให้ข้อมูลภาพรวมของงานวิจัยเรื่องนี้ก่อนนะครับ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรีมีแนวคิดเรื่องขนาดและมาตราส่วนอย่างไร เป้าหมายหลักของงานวิจัยคือการได้มาซึ่งสิ่งที่ผู้วิจัยเรียกว่า “Conceptual Variation” หรือ “การผันแปรทางแนวคิด” (รูปแบบของความแตกต่างทางแนวคิดของนักศึกษาเหล่านี้) เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเรื่องขนาดและมาตราส่วนต่อไป

งานวิจัยนี้ประกอบด้วยงานวิจัยย่อยๆ 3 เรื่อง ดังนี้ครับ

ช่วงที่ 1 เป็นการสำรวจแนวคิดเรื่องขนาดและมาตราส่วน โดยมีนักศึกษาผู้ให้ข้อมูลจำนวน 12 คน ในการนี้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ด้วยเทคนิค “การคิดออกเสียง” (think-aloud) ในระหว่างที่ทำใบงาน (นั่นคือ ผู้วิจัยให้นักศึกษาทำใบงาน และพูดสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดในระหว่างการทำใบงานนั้น) ใบงานที่ว่านี้ก็คือการให้นักศึกษาเรียงลำดับสิ่งต่างๆ จากขนาดเล็กไปยังขนาดใหญ่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประกอบด้วย 1. ความยาวของสนามฟุตบอล 2. ความสูงของช้าง 3. ความยาวของหนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป 4. ความกว้างของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมของคน 5. ความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของแบคทีเรีย 6. ความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของไวรัส และ 7. ความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของอะตอมของไฮโดรเจน

ในการนี้ ผู้วิจัยจำนวน 2 คน นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ ซึ่งถึงแม้ว่าผู้วิจัยไม่ได้ระบุตรงๆ ว่า ผู้วิจัยใช้วิธีการแบบนิรนัยหรือแบบอุปนัย แต่จากคำบรรยายในรายงานวิจัย (หน้า 516) ผมตีความว่า ผู้วิจัยใช้วิธีการแบบอุปนัยครับ นอกจากนี้ ผู้วิจัยทั้ง 2 คน หาค่า inter-rater discrepancy ด้วยครับ ซึ่งได้ประมาณ 10% (ค่า inter-rater discrepancy เป็นค่าที่แสดงถึงระดับความแตกต่างของการตีความ ซึ่งตรงข้ามกับค่า inter-rater reliability ซึ่งแสดงถึงระดับความสอดคล้องของการตีความ โดยค่า inter-rater discrepancy = 100 – inter -rater reliability นั่นคือ ค่า inter-rater reliability ของงานวิจัยช่วงนี้จึงมีค่าเท่ากับ 90% ครับ) จากนั้น ผู้วิจัยทั้ง 2 คนก็มาอภิปรายเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นของการตีความข้อมูลที่แตกต่างกัน

พอได้ผลการวิจัยในช่วงที่ 1 แล้ว ผู้วิจัยก็ดำเนินการวิจัยช่วงที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบว่า ผลการวิัจัยที่ได้จากช่วงที่ 1 สามารถใช้ได้กับนักศึกษาคนอื่นๆ หรือไม่ และแค่ไหน ในการนี้ ผู้วิจัยนำผลการวิจัยในช่วงที่ 1 มาสร้างเป็นตัวเลือกของคำถาม (A B C และ D ดังภาพข้างล่าง) โดยให้นักศึกษาเลือกตัวเลือกที่พวกเขา/เธอคิดว่า ขนาดและมาตราส่วนถูกต้องที่สุด พร้อมทั้งบอกเหตุผลครับ  ผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์ในการเก็บข้อมูล การวิจัยช่วงที่ 2 นี้มีนักศึกษาที่ให้ข้อมูลจำนวน 20 คน ที่ไม่ใช่นักศึกษา 12 คน ในช่วงแรกครับ

เนื่องจากว่า การวิจัยในช่วงที่ 2 นี้เป็นการตรวจสอบว่า ผลการวิจัยในช่วงที่ 1 สามารถใช้ได้กับนักศึกษาอื่นๆ หรือไม่ และแค่ไหน ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงนี้จึงเน้นวิธีการแบบนิรนัยครับ ทั้งนี้เพราะผู้วิจัยมีกลุ่มและเกณฑ์มาก่อนล่วงหน้าแล้ว (อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยไม่ได้ระบุมาตรงๆ นะครับ ผมอ่านสิ่งที่ผู้วิจัยเขียนไว้ แล้วตีความมาอีกทีนึง)

หลังจากที่ผู้วิจัยได้ผลการวิจัยในช่วงที่ 2 แล้ว ผู้วิจัยก็ดำเนินการวิจัยในช่วงที่ 3 ซึ่งเป็นการสำรวจในระดับใหญ่ขึ้น ในการนี้ ผู้วิจัยสร้างข้อคำถามแบบ 2 ชั้น (Two tier) จำนวน 3 ข้อ โดยนำผลการวิจัยจากทั้ง 2 ช่วง มาสร้างเป็นคำถามและตัวเลือกต่างๆ การวิจัยช่วงที่ 3 นี้ มีนักศึกษาที่ให้ข้อมูลทั้งสิ้น 111 คน ด้วยจำนวนผู้ให้ข้อมูลที่มาก และเป็นการเก็บข้อมูลโดยใช้การประเมินแบบเขียนตอบ ดังนั้น ข้อมูลบางส่วนอาจไม่ตรงประเด็นหรือไม่ชัดเจน ข้อมูลส่วนนี้ไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ครับ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อาจารย์คงเห็นลำดับของการวิจัยนะครับว่า ผู้วิจัยไม่ได้เริ่มจากจำนวนผู้ให้ข้อมูลจำนวนมากเลย ในช่วงแรก ผู้วิจัยมีผู้ให้ข้อมูลเพียง 12 คนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในช่วงแรกนั้น ผู้วิจัยต้องการข้อมูลเชิงลึกมากกว่าข้อมูลเชิงกว้างครับ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะขยายงานวิจัยให้ใหญ่ขึ้นไม่ได้ (ดังจะเห็นจากการที่ผู้วิจัยได้เพิ่มจำนวนผู้ให้ข้อมูลในภายหลัง)

อีกเรื่องนึงที่น่าสนใจคือว่า ในช่วงแรกของการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยไม่มีกฎและเกณฑ์ในการวิเคราะห์/จัดกลุ่มข้อมูลมาก่อน ผู้วิจัยก็ใช้วิธีการแบบอุปนัย แต่หลังจากนั้น พอผู้วิจัยเริ่มมีกฎและเกณฑ์บ้างแล้ว ผู้วิจัยก็ใช้วิธีการแบบนิรนัยครับ

ผมขอค้างการนำเสนอผลการวิจัยเรื่องนี้ไว้ก่อนนะครับ

Comments

comments