อาจารย์อ่านชื่อเรื่องงานวิจัยข้างบนแล้วรู้สึกยังไงครับ ผมแปลมาจากงานวิจัยเรื่อง “Misconceptions about “misconceptions”: Preservice secondary science teachers’ views on the value and role of student ideas” ซึ่งแปลแบบเต็มๆ ได้ว่า “แนวคิดที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแนวคิดที่คลาดเคลื่อน: มุมมองของครูวิทยาศาสตร์ก่อนประจำการที่มีต่อความคิดของนักเรียน”
การตั้งชื่อเรื่องงานวิจัยเชิงคุณภาพก็เป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งนะครับ นอกจากชื่อเรื่องต้องสื่อถึงเนื้อหาของงานวิจัยในรูปแบบที่ตรงประเด็น ชัดเจน และกระชับที่สุดแล้ว ชื่อเรื่องที่ดีต้องสามารถดึงดูดความน่าสนใจของผู้อ่านด้วย ตัวอย่างชื่อเรื่องข้างต้นมีการเล่นคำว่า “แนวคิดที่คลาดเคลื่อน” 2 ครั้ง เพื่อสร้างความน่าสนใจ ซึ่งโดยปกติแล้ว หลายคนมองว่า การใช้คำ 1 คำ ถึง 2 ครั้ง ในชื่อเรื่องเป็นการใช้คำอย่างฟุ่มเฟือย แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่ครับ มันกลายเป็นการสร้างความน่าสนใจซะงั้น
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาความเข้าใจของนักศึกษาครูเกี่ยวกับแนวคิดที่คลาดเคลื่อนของนักเรียน ผมขอสรุปผลการวิจัยแบบคร่าวๆ ให้ ดังนี้นะครับ
นักศึกษาครูส่วนใหญ่เข้าว่า แนวคิดที่คลาดเคลื่อนของนักเรียนเป็น “อุปสรรค” ในการเรียนรู้ แต่ในมุมมองของผู้วิจัยเรื่องนี้ แนวคิดที่คลาดเคลื่อนของนักเรียนควรเป็น “ทรัพยากร” สำหรับครูในการจัดการเรียนรู้
ผลการวิจัยนี้จึงวิพากษ์งานวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวคิดที่คลาดเคลื่อนของนักเรียน ซึ่งหลายคนมองว่า มันเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ และเป็นหรือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยเสนอว่า แนวคิดที่คลาดเคลื่อนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีใครที่เกิดมาพร้อมกับความเข้าใจที่สอดคล้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น แทนที่เราจะมองว่า มันเป็นอุปสรรค ก็ให้เรามองด้วยมุมมองใหม่ว่า มันเป็นทรัพยากร ที่เราสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้่
เนื้อหาในบทความน่าสนใจพอๆ กับชื่อเรื่องเลยครับ