ตัวอย่างคำถามที่วัดการบูรณาการความรู้เรื่องพลังงาน

ตามที่ผมติดค้างไว้จากโพสที่แล้วครับว่า ผมจะนำเสนอตัวอย่างคำถามในงานวิจัยเรื่อง “Assessing Learning Progression of Energy Concepts Across Middle School Grades: The Knowledge Integration Perspective” ซึ่งผู้วิจัยศึกษาความสามารถในการบูรณาการความรู้เรื่องพลังงาน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียนชั้น ป.6 ม.1 และ ม.2 จำนวน 2,688 คน

ในบทความนี้ ผู้วิจัยนำเสนอตัวอย่างคำถามจำนวน 3 ข้อ ครับ ผมขอยกมาเพียง 1 ข้อครับ ดังนี้ (หน้า 677)

แหล่งพลังงานสำหรับวัฏจักรของน้ำในโลกคือ(อะไร)

  • ลม
  • รังสีจากดวงอาทิตย์
  • รังสีจากโลก
  • แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์

จงอธิบายคำตอบ

โดยปกติ เราต้องมีการวิเคราะห์ไว้ด้วยนะครับว่า คำถามนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดอะไรบ้าง และแนวคิดเหล่านั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์คำตอบของนักเรียนต่อไป ผู้วิจัยได้นำเสนอไว้เหมือนกันครับ โดยผู้วิจัยมองว่า คำถามนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่ว่า

  1. ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานของโลก
  2. พลังงานเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำ
  3. วัฏจักรของน้ำเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำ

และคำถามนี้เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงความรู้ ดังนี้

  • พลังงานจากดวงอาทิตย์ (แนวคิดที่ 1) ทำให้น้ำในโลกเปลี่ยนแปลงสถานะ (แนวคิดที่ 2) จนเกิดเป็นวัฏจักรของน้ำ (แนวคิดที่ 3)

จากนั้น ผู้วิจัยก็วิเคราะห์ว่า คำตอบของนักเรียนแต่ละคนมีครบทั้ง 3 แนวคิดหรือไม่ และมีการเชื่อมโยงแนวคิดเหล่านี้หรือไม่ และอย่างไร ทั้งนี้เพื่อระบุว่า นักเรียนแต่ละคนมีความสามารถในการบูรณาการความรู้ในระดับใด

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า หากอาจารย์สังเกตตัวเลือกทั้งหมด อาจารย์จะพบว่า ผู้วิจัยไม่ใช้คำว่า “ดวงอาทิตย์” เฉยๆ เพราะมันคลุมเครือเกินไป มันยังไม่สามารถวัดได้ว่า ลักษณะใดของดวงอาทิตย์ที่ทำให้เกิดวัฏจักรของน้ำ ในการนี้ ผู้วิจัยจึงใช้คำว่า “รังสีจากดวงอาทิตย์” และ “แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์” เพื่อทำให้คำถามข้อนี้ยากขึ้น และเพื่อระบุให้แน่ชัดว่า นักเรียนเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ หรือไม่ หรือนักเรียนแค่จำคำตอบมาเท่านั้นครับ

Comments

comments