งานวิจัยในต่างประเทศใ้ห้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงคุณภาพมากขึ้นนะครับ แม้แต่งานวิจัยเชิงทดลอง ที่มีกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ก็อาจไม่ได้มีแค่ข้อมูลตัวเลขเพียงอย่างเดียวแล้ว หากแต่มีการนำข้อมูลเชิงคุณภาพมาร่วมด้วย
ตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยเรื่อง “Teaching Future Teachers Basic Astronomy Concepts—Sun-Earth-Moon Relative Movement—at a Time of Reform in Science Education” ผู้วิจัยศึกษาความเข้าใจของนิสิตครูเกี่ยวกับการเคลื่อนที่สัมพันทธ์กันของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยนิสิต จำนวน 4 กลุ่ม โดย 1 กลุ่มเป็นกลุ่มทดลอง ส่วนอีก 3 กลุ่มเป็นกลุ่มควบคุมที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน กลุ่มทดลองเรียนดาราศาสตร์ด้วยกิจกรรมการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist activity) ส่วนกลุ่มควบคุมเรียนดาราศาสตร์ด้วยการบรรยาย (Lecture)
ผู้วิจัยเก็บข้อมูลทั้งก่อนและหลังเรียน โดยใช้ข้อคำถามแบบเลือกตอบ 21 ข้อ (ข้อมูลเชิงปริมาณ) นอกจากนี้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์ ณ ช่วงเวลาต่างๆ ของการวิจัยร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มทดลองเท่านั้น ซึ่งผู้วิจัยต้องการนำข้อมูลเชิงคุณภาพนี้มาอภิปรายผลการวิจัยว่า กลุ่มทดลองมีพัฒนาการทางแนวคิดเรื่องนี้อย่างไร นั่นหมายความว่า ผู้วิจัยใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อสนับสนุนผลการเปรียบเทียบทางสถิติระหว่างคะแนนก่อนเรียนและคะแนนหลังเรียน
แม้ข้อมูลเชิงคุณภาพมีบทบาทน้อยในงานวิจัยเรื่องนี้ แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เราเห็นว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเชิงทดลองได้ครับ