“International Journal of Science Education” เป็นวารสารด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาที่ได้รับความนิยมอันดันต้นๆ เลยนะครับ หากอาจารย์เข้าเว็บไซต์ของวารสารนี้ อาจารย์จะเห็นเมนูซ้ายมือที่ระบุว่า “Most read articles” และ “Most cited articles” ซึ่งเป็นรายการบทความวิจัยที่มีผู้อ่านมากที่สุด และรายการบทความวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุด ตามลำดับ หากอาจารย์ลองเข้าไปดูทั้งสองเมนูนี้ อาจารย์จะพบว่า บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดเป็นอันดัน 1 และบทความที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือบทความเดียวกัน [ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556] บทความนี้มีชื่อว่า “Attitudes towards science: A review of the literature and its implications” (อาจารย์สามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ฟรีครับ)
บทความนี้เป็นการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับ “เจตคติต่อวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาทั่วโลกให้ความสนใจและมีความกังวล นั่นคือ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ และไม่เรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีจำนวนขาดแคลนและลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น โจทย์สำคัญของนักวิทยาศาสตร์ศึกษา (รวมทั้งครูวิทยาศาสตร์) ก็คือการทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจวิทยาศาสตร์ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ หรือ เราอาจพูดสั้นๆ ว่า เราจะทำอย่างไรให้นักเรียนมีเจคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์
บทความนี้ให้ภาพรวมของงานวิจัยเกี่ยวกับเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของนิยามและกรอบแนวคิด ระเบียบวิธีวิจัย และปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ ผมขออนุญาตนำเสนอเฉพาะระเบียบวิธีวิจัยเท่านั้นนะครับ โดยเฉพาะการวัดเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า การวัดเจตคติต่อวิทยาศาสตร์นั้นมีหลายแบบครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับนิยามและกรอบแนวคิดของคำว่า “เจตคติต่อวิทยาศาสตร์” ดังนี้ครับ
แบบแรกมีชื่อว่า “Subject preference studies” ซึ่งก็คือการให้นักเรียนเรียงลำดับวิชาที่ตนเองชอบและไม่ชอบ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า นักเรียนชอบวิชาวิทยาศาสตร์ในลำดับใด
แบบที่สองเป็นการใช้แบบวัดมาตรส่วนประเมินค่า (Likert-scale) ซึ่งช่วยให้นักเรียนแสดงเจตคติต่อวิทยาศาสตร์โดยตรงได้ (โดยไม่ต้องเทียบกับวิชาอื่นๆ)
แบบที่สามมีชื่อว่า “Interest inventories” ซึ่งมีประโยคเรื่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ แล้วถามนักเรียนว่า นักเรียนสนใจเรื่องพวกนั้นหรือไม่ และในระดับใด
แบบที่สี่คือการพิจารณาจากวิชาที่นักเรียนลงทะเบียนเรียนว่า วิชาเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์กี่วิชา โดยมีหลักคิดที่ว่า หากนักเรียนลงทะเบียนวิชาวิทยาศาสตร์มาก นักเรียนก็สนใจวิทยาศาสตร์มากด้วย
แบบที่ห้าก็คือการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ดังนี้ (หน้า 1059)
Attempts to measure attitudes towards school science have … shown a reliance on quantitative methods based on questionnaires. A common criticism of all attitude scales derived from such instruments is that, while they are useful in identifying the nature of the problem, they have been of little help in understanding it, which has led, more recently, to the growth of qualitative methodologies . Even then, in all of the research so far published, only a few studies have attempted to explore the issue of student attitudes through the use of clinical or group interviews.
ผมสรุปได้ว่า การวัดเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นวิธีการเชิงปริมาณ โดยเฉพาะการใช้แบบสอบถาม ซึ่งได้รับการวิจารณ์ว่า มันยังไม่ช่วยให้เราเข้าใจปัญหา(การที่เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ที่ต่ำของนักเรียน) ได้อย่างลึกซึ้ง และคำวิจารณ์นี้เองนำไปสู่การใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาเจตคติต่อวิทยาศาสตร์มากขึ้น ถึงกระนั้นก็ตาม งานวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาเจตคติต่ิวิทยาศาสตร์โดยใช้การสัมภาษณ์ก็ยังคงมีน้อยอยู่
โดยปกติแล้ว บทความที่ทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมาในอดีตจะเน้นการชี้นำว่า ทิศทางของการวิจัยเรื่องนั้นๆ ควรเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งจากบทความนี้ เราก็ได้เรียนรู้ว่า การศึกษาเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ของนักเรียนควรเน้นการวิจัยเชิงคุณภาพมากขึ้นครับ