อาจารย์คงทราบข่าวที่นักบินอวกาศชาวจีนได้ทำการสอนวิทยาศาสตร์เด็กๆ จากนอกโลกนะครับ หากอาจารย์ไม่เคยทราบมาก่อน ผมแนะนำให้อาจารย์ชมคลิปนี้ครับ
ทันที่ที่ผมทราบข่าวนี้ ผมก็นึกถึงบทความวิจัยเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องแรกๆ ที่ผมอ่านจนจบ บทความนี้มีชื่อว่า “Undergraduate students’ understanding of falling bodies in idealized and real-world situations” แม้ว่าผมจำรายละเอียดของงานวิจัยนี้ไม่ได้แล้ว แต่ที่เหลืออยู่ในความจำของผมมีดังนี้ครับ
ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยต้องการศึกษาว่า นิสิตสามารถแก้โจทย์เกี่ยวกับการตกของวัตถุในสถานการณ์ 2 แบบได้แตกต่างกันหรือไม่ และอย่างไร โดยสถานการณ์ 2 แบบนี้คือ 1. สถานการณ์ในชีวิตประจำวัน (ซึ่งมีแรงต้านทานอากาศ) และ 2. สถานการณ์ในอุดมคติ (ซึ่งไม่มีแรงต้านทานอากาศ)
ในการนี้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการให้นักเรียนทำโจทย์เกี่ยวกับการตกของวัตถุและการสัมภาษณ์ ซึ่งผู้วิจัยพบว่า นิสิตทำโจทย์ในสถานการณ์อุดมคติได้ดีกว่าโจทย์ในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน [อาจารย์ที่สอนฟิสิกส์คงไม่แปลกใจ เพราะการสอนฟิสิกส์ส่วนใหญ่ใช้สถานการณ์อุดมคติ นั่นคือ การไม่คิดแรงต้านอากาศ] นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบว่า การให้นิสิตทำโจทย์สถานการณ์ทั้ง 2 แบบไปพร้อมๆ กัน นิสิตต้องคิดละเอียดมากขึ้น ทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการตกของวัตถุดีขึ้น
ผลงานวิจัยข้างต้นสอดคล้องกับการนำเสนอคลิปของนักบินอวกาศชาวจีน ซึ่งน่าจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ดีขึ้นนะครับ เพราะนักเรียนจะเห็นว่า ปรากฏการณ์เดียวกันในอุดมคติเป็นอย่างไรและในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ทั้งสองแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งน่าจะแตกต่างจากการสอนฟิสิกส์ทั่วไป โดยครูมักนำเสนอนักเรียนว่า การเคลื่อนที่ของวัตถุต่างๆ ในชีวิตประจำวันจะเป็นไปตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่ได้เป็นไปตามกฎเหล่านั้นซะทีเดียว เพราะเรามักไม่นำแรงต้านอากาศมาพิจารณา ดังนั้น นักเรียนจำนวนหนึ่งก็อาจเกิดความคิดแย้งอยู่ในใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้เป็นไปตามที่ครูสอน ทั้งนี้เพราะครูไม่ได้บอกให้นักเรียนทราบว่า ในการทำโจทย์เรื่องการตกของวัตถุ แรงต้านอากาศจะถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ
อาจารย์นำคลิปพวกนี้ไปอภิปรายกับนักเรียนได้นะครับ