โครงสร้างของแบบสอบถามความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

ในบทความวิจัยเรื่อง “A Survey of British Primary School Teachers’ Understanding of the Earth’s Place in the Universe” ผู้วิจัยได้ใช้แบบสอบถามเพื่อศึกษาความเข้าใจของครูระดับประถมศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยก่อนหน้านั้น ผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์ครูกลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วนำข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้มาพัฒนาเป็นแบบสอบถามนี้ ผมชอบโครงสร้างของแบบสอบถามชุดนี้ครับ

แบบสอบถามชุดนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 ตอนครับ โดยตอนแรกนั้นเป็นการสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งก็คล้ายๆ กับแบบสอบถามทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับเพศ ประสบการณ์สอน วุฒิการศึกษา วิชาเอก และ จำนวนปีที่เคยสอนดาราศาสตร์ ส่วนที่เหลือนั้นก็เป็นการสอบถามความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย

  1. ผลจากการสังเกตท้องฟ้า
  2. คำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ
  3. มาตราส่วนของระบบสุริยะ
  4. ระบบสุริยะและเอกภพ

ผมชอบโครงสร้างของแบบสอบถามนี้เพราะว่า ผู้วิจัยเริ่มถามจากสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวในขอบเขตที่แคบไปยังสิ่งที่ไกลตัวในขอบเขตที่กว้างมากขึ้น รายละเอียดเป็นดังนี้ครับ

ในตอนที่ผู้วิจัยถามเกี่ยวกับ “ผลการสังเกตท้องฟ้า” นั้น ผู้วิจัยถามเพียงแค่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ดวงอาทิตย์ขึ้นในทิศไหนและตกในทิศไหน เส้นทางการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์เป็นอย่างไร ดวงจันทร์ปรากฏให้เห็นในช่วงเวลาใดบ้าง ลักษณะของดวงจันทร์ในแต่ละคืนเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และอย่างไร ดวงดาวต่างๆ เคลื่อนที่หรือไม่ และอย่างไร เป็นต้น คำถามพวกนี้  เน้นให้ผู้ตอบ “บรรยาย” ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเท่านั้น

ในตอนที่ผู้วิจัยถามเกี่ยวกับ “คำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ” ผู้วิจัยเริ่มถามถึงสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้า เช่น กลางวันกลางคืนเกิดขึ้นอย่างไร ฤดูกาลเกิดขึ้นอย่างไร ข้างขึ้นข้างแรมเกิดขึ้นอย่างไร สุริยุปราคาเกิดขึ้นอย่างไร และจันทรุปราคาเกิดขึ้นอย่างไร เป็นต้น คำถามพวกนี้เน้นให้นักเรียน “อธิบาย” เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

ในตอนที่ผู้วิจัยถามเกี่ยวกับ “มาตราส่วนของระบบสุริยะ” ผู้วิจัยศึกษาสิ่งที่เกินขอบเขตของการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ โดยตรง เช่น ขนาดของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เป็นอย่างไร มวลของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เป็นอย่างไร และ ระยะห่างระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เป็นอย่างไร เป็นต้น คำถามพวกนี้เน้นให้ผู้ตอบใช้ความรู้จากการศึกษาในอดีต มากกว่าใช้ประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ หากผู้ให้ข้อมูลไม่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาก่อน พวกเขาและเธอคงตอบได้ยากครับ

ในตอนที่ผู้วิจัยถามเกี่ยวกับ “ระบบสุริยะและเอกภพ” ผู้วิจัยถามไปไกลกว่าคำถามในตอนที่แล้ว เช่น ระบบสุริยะประกอบด้วยอะไรบ้าง ระบบสุริยะมีโครงสร้างอย่างไร ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวงเป็นอย่างไร และ ขนาดของดาวเคราะห์แต่ละดวงเป็นอย่างไร เป็นต้น คำถามพวกนี้ก็เน้นให้ผู้ตอบใช้ความรู้จากการศึกษาในอดีต มากกว่าใช้ประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน

ผมคิดว่า ผู้วิจัยคนนี้ค่อนข้างละเอียดกับการจัดลำดับคำถามในแบบสอบถามครับ ซึ่งการจัดลำดับคำถามที่ดีน่าจะช่วยให้เขาวิเคราะห์ความเข้าใจของผู้ให้ข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ กล่าวคือ ผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ได้ว่า 1. ผู้ให้ข้อมูลแต่ละคนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าหรือไม่ และอย่างไร (การบรรยาย) 2. ผู้ให้ข้อมูลเข้าใจสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าหรือไม่ และอย่างไร 3. และ 4. ผู้ให้ข้อมูลเข้าใจปรากฏการณ์ที่ยากต่อการสังเกตในชีวิตประจำวันในระดับใด (ในระดับดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ หรือ ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น ตามลำดับ)

ผมไม่แน่ใจว่า ลำดับของคำถามในแบบสอบถามนี้เป็นผลมาจากการสัมภาษณ์นำร่องก่อนหรือไม่ แต่ในมุมมองของผม ผู้วิจัยทำออกมาได้ดีทีเดียวครับ

Comments

comments