การอภิปรายกับนักเรียน: แนวทางจากกรณีศึกษา

อาจารย์ส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับคำว่า “Best Practice” หรือ “การปฏิบัติที่เป็นเลิศ” นะครับ ซึ่งมีการจัดงานนำเสนอและเผยแพร่กันเป็นระยะๆ ในประเทศของเรา

ในต่างประเทศ การนำเสนอและเผยแพร่ “Best practice” ก็มีเหมือนกันครับ นอกจากนี้ เขายังมีการวิจัยเกี่ยวกับ “Best Practice” ด้วยครับ ทั้งนี้เพื่อตอบคำถามวิจัยที่ว่า “Best Practice” นั้นเป็นอย่างไร ดีอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร

เราลองมาดูผลการวิจัย “Best Practice” ของครูฟิสิกส์คนหนึ่งในประเทศอเมริกา ซึ่ง “Best Practice” ของครูคนนี้เป็นเรื่องของวิธีการอภิปรายกับนักเรียนครับ

ในบทความวิจัยเรื่อง “Reflective discourse: Developing Shared Understandings in a Physics Classroom” และ “Using Questioning to Guide Student Thinking” ผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยได้เดินทางไปศึกษา “Best Practice” ของครูฟิสิกส์คนหนึ่ง (ซึ่งมีชื่อเป็นผู้วิจัยร่วม) โดยการสังเกตการสอนในช่วงเวลาหนึ่ง ร่วมกับการสัมภาษณ์ครูคนนั้นและลูกศิษย์ของเขา สิ่งที่ผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยสนใจคือว่า ครูคนนี้มีวิธีการอภิปรายเพื่อกระตุ้นการคิดของนักเรียนอย่างไร ผลการวิจัยเป็นดังนี้ครับ

การอภิปรายของครูคนนี้เป็นไปในลักษณะที่ว่า ครูจะใ้ช้คำถามเพื่อให้นักเรียนแสดงความคิดของตัวเอง และเพื่อให้นักเรียนมีความชัดเจนในความคิดนั้น [นักเรียนบางคนอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่า ตัวเขาหรือเธอเข้าใจสิ่งที่ครูถามอย่างไร] โดยที่ครูจะไม่ประเมินว่า ความคิดของนักเรียนนั้นถูกหรือผิด นอกจากนี้ ครูจะกระตุ้นให้นักเรียนคนอื่นๆ ทำความเข้าใจความคิดของนักเรียนทุกคนที่ตอบคำถาม ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันของนักเรียนทั้งชั้น

บทบาทของครูในการอภิปรายกับนักเรียนแบบนี้ไม่ใช่การเป็นผู้ตอบคำถามของนักเรียน หรือเป็นผู้ประเมินคำตอบของนักเรียน แต่ครูทำตัวเป็นคนกลางที่คอย “ไกล่เกลี่ย” หรือ “เจรจา” ให้นักเรียนทุกคนสร้างข้อสรุปร่วมกัน ในการทำแบบนี้ได้นั้น ครูจะใช้เทคนิค ซึ่งผู้วิจัยเรียกว่า “Reflective toss” ซึ่งเป็นการมอบความรับผิดชอบในการคิดให้กับนักเรียน เมื่อไหร่ก็ตามที่นักเรียนเกิดคำถามบางอย่าง ครูจะไม่ตอบคำถามนั้นทันที แต่จะถามนักเรียนกลับไปว่า แล้วนักเรียน(คนอื่นๆ)คิดยังไงเกี่ยวกับสิ่งที่เพื่อนสงสัย การโยนคำถามกลับไปที่นักเรียนจึงช่วยให้นักเรียนเกิดการคิดที่ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการที่ครูตอบคำถามนั้นด้วยตัวเอง

ในการนี้ ผู้วิจัยยังนำเสนอด้วยว่า การอภิปรายของครูคนนี้แตกต่างไปจากการอภิปรายของครูทั่วไป ซึ่งมักอยูี่ในรูปแบบของ (Initiate-Respond-Evaluate: IRE) กล่าวคือ ในการอภิปรายของครูทั่วไป การอภิปรายจะเริ่มต้น (Initiate: I) ด้วยคำถามของครู จากนั้น นักเรียนก็จะตอบ (Respond: R) คำถามของครู [ซึ่งมักเป็นการอ้างถึงคำตอบในหนังสือ] แล้วครูจึงประเมิน (Evaluate: E) ว่า คำตอบนั้นของนักเรียนถูกหรือผิด การอภิปรายของครูทั่วไปจะเป็นไปในรูปแบบของวัฏจักร IRE ไปเรื่อยๆ ซึ่งคำถามส่วนใหญ่เป็นคำถามเกี่ยวกับการท่องจำ

หากเราพิจารณาแนวทาง 4 ข้อในการอภิปรายกับนักเรียน ซึ่งผมนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น การอภิปรายของครูคนนี้ส่วนใหญ่เป็นแบบ Interactive + Dialogic ซึ่งครูและนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน และครูให้ความสำคัญกับมุมมองที่หลากหลายครับ

Comments

comments