ในปัจจุบัน การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เป็นไปตามหลักคิดที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติและฝึกคิดแบบเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติและคิดอย่างไร เราก็ควรส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติและคิดแบบนั้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต และเป็นพลเมืองที่มีการคิดแบบวิทยาศาสตร์
หลักคิดดังกล่าวเป็นที่มาของการส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based approach) ซึ่งครูวิทยาศาสตร์ไทยมักคุ้นเคยในรูปแบบของวัฏจักร 5Es (Engagement, Exploration, Explanation, Elaboration, และ Evaluation) หากเราสังเกตให้ดี เราจะพบว่า ในวัฏจักรนี้มีการปฏิบัติและการคิดบางอย่างซ่อนอยู่ นั่นคือ หลังจากที่นักเรียนทำการศึกษาบางอย่างแล้ว นักเรียนต้องนำเสนอผลการศึกษา และเปิดโอกาสให้ผู้อื่นประเมินว่า ผลการศึกษานั้นสมเหตุสมผลหรือไม่และอย่างไร นั่นคือ นักเรียนต้องให้เหตุผลว่า ผลการศึกษาของตนเองได้มาอย่างไร และ เหตุใดผลการศึกษานั้นจึงน่าเชื่อถือ(หรือมีความสมเหตุสมผล)
การประเมินความสมเหตุสมผลของผลการศึกษาใดๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เราจะใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณาและตัดสินว่า ผลการศึกษานี้สมเหตุสมผล ในทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาว่า ผลการศึกษานั้นมีหลักฐานสนับสนุนหรือไม่ และหลักฐานนั้นสนับสนุนผลการศึกษานั้นอย่างไร อันนี้เป็นกรอบแนวคิดที่เราสามารถใช้ในการวิเคราะห์เหตุผลของนักเีรียนครับ รายละเอียดเป็นดังภาพข้างล่าง
ภาพข้างบนนี้แสดงองค์ประกอบที่จำเป็นในการให้เหตุผลของนักวิทยาศาสตร์และนักเรียนครับ ซึ่งผมดัดแปลงมาจากบทความเรื่อง “Enhancing the Quality of Argument in School Science” (หน้า 63) ซึ่งผู้เขียนดัดแปลงมาจากหนังสือ “The Uses of Argument” อีกทีนึง [หากอาจารย์ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน อาจารย์จะพบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่จะใช้กรอบแนวคิดนี้ครับ]
ในการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์นั้น นักเรียนจำเป็นต้องนำเสนอว่า ข้อสรุป (Claim) คืออะไร ซึงก็คือผลการศึกษานั่นเอง จากนั้น นักเรียนต้องระบุว่า หลักฐาน (Evidence) หรือข้อมูล (Data) ที่สนับสนุนข้อสรุปนั้นคืออะไร ในการนี้ นักเรียนต้องให้คำชี้แจง (Warrant หรือ Justification) ว่า ข้อสรุปและหลักฐานนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร โดยนักเรียนอาจชี้แจงโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หลักการเชิงตรรกะ และ/หรือ อื่นๆ หากเหตุผลของนักเรียนมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่าง และองค์ประกอบทั้งหมดมีความสัมพันธ์กัน เราก็สามารถตัดสินได้ว่า ผลการศึกษาของนักเรียนมีความสมเหตุสมผลครับ
สิ่งที่น่ากังวลใจ(ในมุมมองของผมเอง)คือว่า ในอดีตที่ผ่านมา เราอาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสามารถในการให้เหตุผลของนักเรียนเท่าไหร่นัก เราไปเน้นที่ความถูกต้องของผลการศึกษาของนักเรียนมากกว่า กล่าวคือ เราไปเน้นว่า ผลการศึกษาของนักเรียนสอดคล้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ แต่เราไม่ได้สนใจเท่าไหร่นักว่า ผลการศึกษาของนักเรียนมีหลักฐานอะไรมาสนับสนุนบ้าง และสนับสนุนอย่างไร จุดอ่อนตรงนี้ปรากฏในผลการประเมินนานาชาติ เช่น PISA ซึ่งแสดงว่า นักเรียนไทยยังลงข้อสรุปจากหลักฐานได้ไม่ดีเท่าที่ควร และไม่สามารถชี้แจงว่า หลักฐานและข้อสรุปที่โจทย์กำหนดให้นั้นสัมพันธ์กันอย่างไร นั่นคือ นักเรียนยังขาดความสามารถในการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ครับ
เราอาจต้องเน้นให้นักเรียนมีความสามารถในการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นครับ