การถามที่กระตุ้นการคิด

นักวิจัยในต่างประเทศได้ศึกษาลักษณะการใช้คำถามของครูกันอย่างจริงจัง เพราะพวกเขามองว่า “ภาษา” เป็นสื่อกลางสำคัญที่ครูและนักเรียนใช้ในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยด้านการใช้ภาษา (โดยเฉพาะการใช้คำถาม) ในประเทศไทยยังคงมีอยู่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน และการหาประสิทธิภาพของกิจกรรมนั้น ก่อนหน้านี้ ผมนำเสนอแนวทาง 4 ข้อในการอภิปรายกับนักเรียนไปแล้ว ซึ่งค่อนข้างเน้นทฤษฎี คราวนี้ ผมขอนำเสนอเสนอเทคนิคในทางปฏิบัติบ้างครับ

ในงานวิจัยเรื่อง “Teacher Questioning in Science Classrooms: Approaches that Stimulate Productive Thinking” [ต้นฉบับ] ผู้วิจัยได้ศึกษาการใช้คำถามของครูวิทยาศาสตร์ที่สอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 คน จาก 4 โรงเรียนในประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้เพื่อระบุว่า การใช้คำถามในลักษณะใดที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการคิด ในการนี้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการสังเกตการสอนของครู 6 บทเรียน รวมทั้งหมดก็ 36 บทเรียน ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาวิทยาศาสตร์ต่างๆ จากนั้น ผู้วิจัยทำการถอดเทปและเลือกเหตุการณ์ที่การอภิปรายในห้องเรียนก่อให้เกิดพัฒนาการทางความคิด กล่าวคือ สาระของการอภิปรายคืบไปข้างหน้า และเข้าใกล้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ผู้วิจัยพิจารณาและวิเคราะห์เหตุการณ์เหล่านั้น เพื่อระบุว่า ลักษณะของคำถามที่ครูใช้อภิปรายกับนักเรียนเป็นอย่างไร

ผลการวิจัยนี้นำเสนอลักษณะการใช้คำถามหลายแบบครับ ดังนี้

การถามแบบ Socratic ซึ่งครูใช้ชุดคำถามเพื่อล้วงข้อมูลหรือความคิดของนักเรียน โดยครูอาจเริ่มต้นด้วยคำถามปลายเปิด แล้วใ้ห้นักเรียนตอบเพื่อแสดงความคิดของตัวเองออกมา จากนั้น ครูค่อยๆ ซักไซ้ไล่เลียงนักเรียนไปเรื่อยๆ เช่น เมื่อครูถามนักเรียนว่า “นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกจะรู้ได้ยังไงว่า เหรียญนั้นทำมาจากทองจริงๆ” เมื่อนักเรียนตอบว่า “หาความหนาแน่นของทอง” จากนั้น ครูก็ค่อยๆ ซักไซ้ไล่เลียงไปว่า นักเรียนต้องทำอะไรต่อไปบ้าง เช่น “ในการหาความหนาแน่นของทอง เราต้องทำอะไรบ้าง” เมื่อนักเรียนตอบว่า “หามวล” ครูก็ถามต่อไปว่า “แล้วเราจะหามวลได้อย่างไร” การถามแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ครูทราบว่า นักเรียนมีความเข้าใจเรื่องที่ตนเองถามอย่างไร [ในการนี้ ครูหลีกเลี่ยงการประเมินคำตอบของนักเรียน ไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม]

นอกจากนี้ เมื่อนักเรียนบางคนมีคำถามเกิดขึ้น ครูจะไม่ตอบคำถามนั้นด้วยตัวเอง แต่ครูจะโยนคำถามนั้นให้นักเรียนคนอื่นๆ ช่วยกันตอบ พร้อมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนทั้งชั้นประเมินคำตอบนั้น [โดยครูหลีกเลี่ยงการประเมินคำตอบของนักเรียน ไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม] และในบางกรณี ครูอาจถามคำถามที่ท้าทาย เพื่อเปิดประเด็นสำคัญที่ยังไม่เกิดขึ้นในการอภิปรายของนักเรียน

การถามแบบ Verbal Jigsaw ซึ่งครูใช้คำถามเมื่อเนื้อหาของการเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ในการนี้ ครูอาจใช้เพื่อนำเสนอและ/หรือตรวจสอบว่า นักเรียนสามารถใช้คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในการเรียนการสอนเรื่องการแบ่งเซลล์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ครูอาจชี้ไปที่แผนภาพการแบ่งเซลล์ แล้วถามนักเรียนว่า “นี่คืออะไร” หรือครูอาจบรรยายกระบวนการแบ่งเซลล์ไปบางส่วน แล้วหยุดเมื่อถึงคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียน “เติมคำ” ในช่องว่าง โดยครูมักใช้การถามแบบ Verbal Jigsaw เพื่อสรุปบทเรียน [ซึ่งตรงกันข้ามกับการถามแบบ Socratic ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนเริ่มต้นบทเรียน]

การถามแบบ Semantic Tapestry ซึ่งครูใช้คำถามเพื่อให้นักเรียนมองปรากฏกาณณ์ที่ตนเองกำลังเรียนอยู่จากหลายมุมมอง และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ในการเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับเคมี นักเรียนต้องสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ตนเองกำลังเรียนในระดับต่างๆ ได้ ทั้งระดับมหภาค ระดับจุลภาค และระดับนามธรรม (เช่น ตัวเลข สูตรเคมี และสัญลักษณ์ทางเคมี) ในการนี้ ครูอาจถามนักเรียนว่า “ปริมาตรของน้ำเมื่อแข็งตัวจะเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับน้ำที่เหลว” [ระดับมหภาค] “โมเลกุลของน้ำที่แข็๋งตัวแตกต่างจากโมเลกุลของน้ำที่เหลวอย่างไร” [ระดับจุลภาค] และ “ค่าความหนาแน่นของน้ำแข็งและของน้ำที่เหลวต่างกันอย่างไร” [ระดับนามธรรม—ตัวเลข] เป็นต้น

การถามแบบ Question-Based Summary ซึ่งครูใช้เมื่อต้องการสรุปบทเรียน เช่น “จากบทเรียนนี้ เราได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง”

เช่นเดียวกับแนวทาง 4 ข้อในการอภิปรายกับนักเรียน ไม่มีเทคนิคไหนดีกว่ากันครับ มันขึ้นอยู่กับบริบทและวัตถุประสงค์ของการใช้แต่ละเทคนิคครับ

Comments

comments