การโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์: องค์ประกอบที่หายไป

การโต้แย้งเป็นการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งนะครับ หลายครั้งที่นักวิทยาศาสตร์มีความคิดและลงข้อสรุปแตกต่างกันไป แม้ว่าพวกเขาและเธออาจมีข้อมูลและหลักฐานเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องมีการโต้แย้งกัน ทั้งนี้เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันหรือเพื่อหาคำอธิบายที่ดีที่สุด

ตัวอย่างของประเด็นการโต้แย้งในอดีต ได้แก่ “ดาวพลูโตควรเป็นดาวเคราะห์หรือไม่” “อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะกิจกรรมของมนุษย์หรือไม่” และ “การโคลนนิ่งมนุษย์เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่” ไม่ว่าประเด็นของการโต้แย้งนั้นจะเป็นอะไร และผลการโต้แย้งจะจบลงแบบไหน ลักษณะสำคัญของการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ก็คือว่า ข้อโต้แย้งนั้นต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และมีความสัมพันธ์กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ในต่างประเทศ ซึ่งเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คือการสร้างนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต และการเตรียมพลเมืองให้เป็น “ผู้รู้วิทยาศาสตร์” ซึ่งพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ศึกษาจะส่งเสริมให้นักเรียนสามารถสร้างข้อโต้แย้งและคำอธิบายที่ “เป็นวิทยาศาสตร์” (นั่นคือ การสร้างข้อโต้แย้งและคำอธิบายที่ประกอบด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์) รวมทั้งสามารถประเมินได้ว่า ข้อโต้แย้งและคำอธิบายใดที่เป็นหรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จาก คำถามที่ปรากฎในการประเมินผลนักเรียนในระดับนานาชาติ เช่น TIMSS และ PISA

อย่างไรก็ตาม ในบทความวิจัยเรื่อง “Making Sense of Argumentation and Explanation” ผู้วิจัยเสนอว่า การส่งเสริมให้นักเรียนใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์นั้นอาจยังไม่เพียงพอ ด้วยการโต้แย้่งของนักวิทยาศาสตร์มักมีการโน้มน้าว (Persuading) ให้ผู้อื่นคล้ายตามรวมอยู่ด้วย ดังนั้น นักเรียนควรได้รับการส่งเสริมให้สามารถโน้มน้าวผู้อื่นให้คล้อยตามข้อโต้แย้งของตนเองด้วย

จากการวิเคราะห์การโต้่แย้งและคำอธิบายของนักเรียนระดับ ม. ต้น จำนวน 53 คน จาก 3 ห้องเรียน ผู้วิจัยพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจบางอย่าง นั่นคือว่า การโต้แย้งที่มีการโน้มน้าวรวมอยู่ด้วยมักมีการแยกแยะว่า ส่วนใดของข้อโตแย้งที่เป็นหลักฐาน และส่วนใดของข้อโต้แย้งที่เป็นการอนุมานจากหลักฐาน [หรือการตีความจากหลักฐาน] ในขณะที่ การโต้แย้งที่ไม่มีการโน้มน้าวมักไม่มีการแยกแยะระหว่างสองส่วนนี้ (หลักฐานและการอนุมานจากหลักฐาน) มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแน่นอนว่า ข้อโต้แย้งที่มีการโน้มน้าวมักมี “พลัง” ในการชักจูงในผู้อื่นเชื่อหรือคล้อยตามมากกว่าข้อโต้แย้งที่ไม่มีการโน้มน้าว ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจมองได้ว่า การแยกแยะระหว่างหลักฐานและการอนุมานจากหลักฐาน เป็น “กลยุทธหนึ่ง” ของการโน้มน้าวที่มีประสิทธิภาพ

Comments

comments