การสอนวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาที่ 2

พอดีผมเจอบทความวิจัยเรื่อง “Language and the experience of learning university physics in Sweden” ซึ่งนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษาที่ผู้สอนใช้ (ภาษาสวีดิช และ ภาษาอังกฤษ) กับพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน ผมเห็นว่า ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับความพยายามส่งเสริมให้ครูไทย “สอนวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษ” ผมจึงขอนำผลการวิจัยนี้มาเล่าสู่กันฟังหน่อยนะครับ เผื่อว่าเราจะได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์กับการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย

จากการสังเกตการเรียนการสอนฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัย 2 แห่งในประเทศสวีเดน (ซึ่งมีการใช้ทั้งภาษาสวีดิช ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากล) ผู้วิจัยเห็นความแตกต่างในพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน เมื่อผู้สอนใช้ภาษาในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อผู้สอนใช้ภาษาอังกฤษ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนจะน้อยกว่า เมื่อผู้สอนใช้ภาษาสวีดิช ถึงแม้ว่าในตอนแรกของการวิจัย ผู้เรียนรายงานว่า พฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเองไม่ได้รับผลอะไรจากภาษาที่ผู้สอนใช้

หากเราพิจารณาว่า การเรียนการสอนเป็นกระบวนการสร้างความหมายร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน (และ ในกลุ่มผู้เรียนด้วยกันเอง) ทั้งจากการถามตอบ การอภิปราย และการแสดงความคิดเห็น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนที่น้อย จึงสื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ลดลงที่ผู้สอนและผู้เรียนจะประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาร่วมกัน นั่นหมายความว่า การเรียนรู้ของผู้เรียนอาจถูกจำกัดโดยภาษาที่ผู้สอนใช้

นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้เรียน 22 คน ผู้เรียนบอกกับผู้วิจัยว่า การเรียนด้วยภาษาอังกฤษทำให้ตนเองต้องจดจ่ออยู่กับการจดบันทึกสิ่งที่ผู้สอนนำเสนอ มากกว่าการตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้สอนต้องการสื่อสาร ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบกับการเรียนด้วยภาษาสวีดิช การเรียนด้วยภาษาอังกฤษทำให้ตนเองต้องเรียนหนักขึ้น โดยการศึกษาเนื้อหาทั้งก่อนและหลังเรียนในห้องเรียนปกติ และการปรึกษาผู้สอนนอกเวลาเรียนปกติ

ในช่วงหลายปีมานี้ ผมเห็นความพยายามส่งเสริมให้ครูไทย “สอนวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษ” แม้ในมุมหนึ่ง ผมเห็นด้วยกับความพยายามดังกล่าว ทั้งนี้เพราะการสอนด้วยภาษาอังกฤษจะช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แต่ผมคิดว่า เราควรมีการวิจัยเกี่ยวกับการสอนวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษที่ละเอียดมากขึ้น ก่อนที่เราจะสรุปและประกาศว่า การสอนเป็นภาษาอังกฤษสามารถช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจวิทยาศาสตร์ดีขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่า ผู้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยจากงานวิจัยข้างต้น มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี แต่ก็ยังประสบกับความยากลำบากในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นบ้างกับผู้เรียนไทยที่มีอายุและทักษะภาษาอังกฤษที่น้อยกว่า?

Comments

comments