ผมอยากให้อาจารย์ลองอ่านบทความวิจัยเรื่องนึงครับ บทความวิจัยนี้มีชื่อว่า “Third Grade Students’ Ideas about the Lunar Phases” ซึ่งเป็นการศึกษาแนวคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เกี่ยวกับการเกิดข้างขึ้นข้างแรมครับ
สาเหตุที่ผมอยากให้อาจารย์อ่านบทความเรื่องนี้มี 2 ประการครับ ประการที่ 1 คือว่า วิธีการวิจัยเรื่องนี้คล้ายกับงานวิจัยของอาจารย์หลายท่านครับ กล่าวคือ ผู้วิจัยศึกษาแนวคิดของนักเรียนเพียง 4 คนเท่านั่น โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการวาดภาพเป็นหลัก ดังนั้น อาจารย์สามารถเรียนรู้ทั้งวิธีการวิจัย และการรายงานผลการวิจัยได้ครับ
ส่วนประการที่ 2 นั้นเป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจครับ หากอาจารย์ได้อ่านบทความวิจัยเรื่องนี้ อาจารย์จะเห็นว่า แม้การวิจัยนี้มีจำนวนผู้ให้ข้อมูลน้อย (4 คน) แ่ต่ถ้าสาระของงานวิจัยมีความน่าสนใจแล้ว การเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการก็เป็นไปได้ครับ บทความวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร “Journal of Research in Science Teaching” ครับ
ผมขอสรุปผลการวิจัยนี้คร่าวๆ นะครับ ดังนี้
งานวิจัยนี้ศึกษาว่า นักเรียนชั้น ป. 3 จำนวน 4 คน มีแนวคิดเรื่องการเกิดข้างขึ้นข้างแรมอย่างไร โดยมีการศึกษาทั้ง “ก่อนเรียน” และ “หลังเรียน” ครับ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์และการให้นักเรียนวาดภาพเป็นหลักครับ โดยมีการนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกเหตุการณ์ในห้องเรียน การบันทึกหลังสอน และการอภิปรายระหว่างผู้วิจัยด้วยมาใช้เป็นข้อมูลเสริมครับ
ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ผู้วิจัยใช้วิธีการที่มีชื่อว่า “Analytical induction” ซึ่งก็คือวิธีการแบบอุปนัยนั่นเอง อาจารย์คงจำกันไ่ด้นะครับ สำหรับวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบนี้นั้น ผู้วิจัยไม่ได้สร้างกฎหรือเกณฑ์ในการจัดกลุ่มข้อมูลไว้ก่อน แต่ค่อยๆ อ่านข้อมูลเพื่อหารูปแบบของข้อมูล เพื่อนำมาสร้างเป็นกลุ่มข้อมูลที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน
ผลการวิจัยเกี่ยวกับแนวคิดของนักเรียน “ก่อนเรียน” เป็นดังนี้ครับ
นักเรียน 2 คน มีแนวคิดที่ว่า ข้างขึ้นข้างแรมนั้นเป็นผลมาจากการที่ตำแหน่งของผู้สังเกตดวงจันทร์บนโลกนั้นเปลี่ยนแปลงไปครับ กล่าวคือ นักเรียนเข้าใจว่า โลกหมุนรอบตัวเอง (แต่ดวงจันทร์อยู่นิ่ง) ซึ่งทำให้ดวงจันทร์ปรากฎเป็นลักษณะต่างๆ ตัวอย่างเช่น การที่ผู้สังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเพราะดวงนั้นอยู่เหนือศรีษะของผู้สังเกตพอดี และการที่ผู้สังเกตไม่เห็นดวงจันทร์นั่นเป็นเพราะดวงจันทร์อยู่อีกฝั่งนึงของโลกครับ
ส่วนนักเรียนอีก 1 คนเข้าใจว่า นอกจากการหมุนของโลกแล้ว เมฆมีบทบาทในการเกิดข้างขึ้นข้างแรมด้วยครับ ในขณะที่นักเรียนอีก 1 คน ไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า ข้างขึ้นข้างแรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
อาจารย์จะเห็นว่า ไม่มีนักเรียนคนใดเลยที่ระบุว่า ดวงอาทิตย์มีบทบาทสำคัญในการเกิดข้างขึ้นข้างแรม ทั้งๆ ที่ความสว่างที่ปรากฏบนดวงจันทร์นั้นเป็นแสงจากดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบดวงจันทร์ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยตรงนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจครับ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่คงทราบดีว่า เราไม่มีดวงอาทิตย์ปรากฎในตอนกลางคืน
จากผลการวิจัย “ก่อนเรียน” นี้ ผู้วิจัยจึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเข้าว่า ดวงอาทิตย์มีบทบาทสำคัญมากในการเกิดข้างขึ้นข้างแรม แม้ว่า ดวงอาทิตย์ไม่ปรากฏให้นักเรียนเห็นในตอนกลางคืนก็ตาม
ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ “ก่อนเรียน” ผู้วิจัยจึงสามารถแก้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างตรงประเด็น ทำให้นักเรียนแต่ละคนมีพัฒนาการทางแนวคิดเรื่องนี้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ดังผลการวิจัย “หลังเรียน” ซึ่งผมขอละไว้ให้อาจารย์ศึกษาเองแล้วกันนะครับ