ความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับรูปร่างของโลก

ผมมีผลการวิจัยเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอครับ ผลการวิจัยนี้อยู่ในบทความวิจัยเรื่อง “Capturing and Modeling the Process for Conceptual Change” ซึ่งศึกษาความเข้าใจของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 3 และ 5 จำนวน 60 คน เกี่ยวกับรูปร่างของโลก ผลการวิจัยมีดังนี้ครับ (หน้า 53)

ผู้วิจัยจัดกลุ่มความเข้าใจของนักเรียนออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้ครับ

  1. นักเรียนเข้าใจว่า โลกเป็นสี่เหลี่ยมแบนๆ (Rectangular Earth)
  2. นักเรียนเข้าใจว่า โลกเป็นวงกลมแบนๆ (Disc Earth)
  3. นักเรียนเข้าใจว่า โลกมี 2 ใบ ใบแรกจะแบนๆ ส่วนอีกใบเป็นกลมๆ (Dual Earth)
  4. นักเรียนเข้าใจว่า โลกเป็นทรงกลมกึ่งกลวงกึ่งตัน กล่าวคือ ส่วนบนของทรงกลมจะกลวง แต่ส่วนล่างของทรงกลมจะตัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นราบ (Hallow Sphere)
  5. นักเรียนเข้าใจว่า โลกเป็นทรงกลมป้านๆ โดยส่วนบนและส่วนล่างเป็นพื้นราบ (Flattened Earth)
  6. นักเรียนเข้าใจว่า โลกเป็นทรงกลม (Sphere)

ในการนี้ ผู้วิจัยยังจัดกลุ่มของความเข้าใจ 6 แบบนี้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยครับ

  1. กลุ่มที่มีความเข้าใจแบบเบื้องต้น (Initial model) ซึ่งเป็นความเข้าใจแบบที่ 1 และ 2 อันนี้เป็นความเข้าใจเดิมแบบไร้เดียงสาของเด็กๆ ครับ
  2. กลุ่มที่มีความเข้าใจแบบสังเคราะห์ (Synthetics model) ซึ่งเป็นความเข้าใจแบบที่ 3 4  และ 5 ครับ อันนี้เป็นความเข้าใจแบบผสมครับ กล่าวคือ นักเรียนเอาสิ่งที่ครูสอนว่า “โลกกลม” กับความเข้าใจเดิมของตัวเองว่า “โลกแบน” มาปนกันครับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า นักเรียนแต่ละคนจะนำทั้งสองอย่างนี้มาปนกันแบบไหน
  3. กลุ่มที่มีความเข้าใจแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific model) ซึ่งเป็นความเข้าใจแบบที่ 6 ครับ

โดยจำนวนนักเรียนที่มีความเข้าใจแต่ละแบบเป็นดังหน้าที่ 54 ครับ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า จากจำนวนนักเรียนในแต่ละระดับชั้นที่เท่ากัน (20 คน) จำนวนนักเรียนที่เข้าใจว่า โลกมีรูปร่างเป็นทรงกลมเพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้นครับ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือว่า ความเข้าใจแบบผสม (Mixed model) ครับ นั่นหมายความว่า นักเรียน 1 คนสามารถมีความเข้าใจพร้อมกันได้มากกว่า 1 แบบครับ