งานวิจัยเชิงคุณภาพหลายเรื่องที่ศึกษาความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องต่างๆ มักให้ผลการวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” (Learning Progression) โดยความก้าวหน้าในการเรียนรู้แสดงถึงลำดับขั้นของพัฒนาการทางแนวคิดของนักเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการหาทางจัดการเรียนการสอน
ในเอกสารเรื่อง “Learning Progressions in Science: An Evidence-based Approach to Reform” ผู้เขียนได้นำเสนอตัวอย่างความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องการจม-ลอยของวัตถุ ดังนี้ (หน้า 70)
นักเรียนส่วนใหญ่มีลำดับขั้นพัฒนาการทางแนวคิดเรื่องการจม-ลอยของวัตถุ ดังนี้
ในระดับที่ 1 (M or V) นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุใดๆ ในของเหลวจะขึ้นอยู่กับมวล หรือ ปริมาตรของวัตถุนั้น
ในระดับที่ 2 (MV) นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุใดๆ ในของเหลวจะขึ้นอยู่กับมวล และ ปริมาตรของวัตถุนั้น
ในระดับที่ 3 (D) นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุใดๆ ในของเหลวจะขึ้นอยู่กับอัตราส่วนระหว่างมวลและปริมาตรของวัตถุนั้น (นั่นคือ ความหนาแน่นของวัตถุ)
ในระดับที่ 4 (RD) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุใดๆ ในของเหลวจะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัตถุเทียบกับความหนาแน่นของของเหลว
ความก้าวหน้าในการเรียนรู้่เรื่องการจม-ลอยของวัตถุนี้เป็นเสมือนเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียน ส่วนตัวผมเองมองว่า มันเป็นเสมือนขั้นบันไดให้นักเรียนไต่ระดับขึ้นไปจากแนวคิดที่คลาดเคลื่อน(หรือไม่สมบูรณ์) จนกระทั่งถึงความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์
เมื่อทราบความก้าวหน้าในการเรียนรู้นี้แล้ว ผู้สอนสามารถคิดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้นๆ ได้
ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยจะขึ้นอยู่กับมวลของวัตถุเท่านั้น (M) ผู้สอนอาจให้นักเรียนลองเปลี่ยนแปลงปริมาตรของวัตถุ (โดยมวลของวัตถุเท่าเดิม) แล้วสังเกตดูว่า การจม-ลอยของวัตถุเป็นอย่างไร
ในทำนองเดียวกัน ในกรณีที่นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุขึ้นอยู่กับปริมาตรของวัตถุเท่านั้น (V) ผู้สอนอาจให้นักเรียนลองเปลี่ยนแปลงมวลของวัตถุ (โดยปริมาตรเท่าเดิม) แล้วสังเกตดูว่า การจม-ลอยของวัตถุเป็นอย่างไร
ส่วนในกรณีที่นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุใดๆ ในของเหลวจะขึ้นอยู่กับมวลและปริมาตรของวัตถุนั้น แต่ยังไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมวลและปริมาตรของวัตถุ (MV) ผู้สอนอาจจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนหาความสัมพันธ์ระหว่างมวลและปริมาตรของวัตถุ ที่ส่งผลต่อการจม-ลอยของวัตถุนั้น อันจะนำไปสู่ความเข้าใจว่า ความหนาแน่นของวัตถุเกี่ยวข้องกับการจม-ลอยของวัตถุ
และในกรณีที่นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุใดๆ ในของเหลวจะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัตถุ แต่ยังไม่ได้มีการเปรียบเทียบระหว่างความหนาแน่นของวัตถุและความหนาแน่นของของเหลว (D) ผู้สอนก็อาจจัดกิจกรรมให้นักเรียนสังเกตการจม-ลอยของวัตถุใดๆ ในของเหลวที่มีความหนาแน่นต่างๆ
เมื่อเราทราบลำดับขั้นของการเรียนรู้แนวคิดเรื่องใดๆ แล้ว เราจะสามารถ “ตี” แนวคิดนั้นออกมาได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ เราจะรู้ว่า ก้าวต่อไปของนักเรียนแต่ละคนคืออะไร ซึ่งจะนำไปสู่การจัดกิจกรรมเพื่อให้ส่งเสริมนักเรียนแต่ละคนมีพัฒนาการทางแนวคิดเรื่องนั้นๆ ได้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมบนพื้นฐานของความก้าวหน้าในการเรียนรู้จะเป็นไปอย่างตรงประเด็นและมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การจะทำทั้งหมดนี้ได้นั้น เราต้องศึกษาแนวคิดของนักเรียนในเรื่องนั้นๆ และงานวิจัยเชิงคุณภาพสามารถตอบสนองการกระทำนี้ได้อย่างดีครับ