บทสรุปจากโพสที่แล้วเกี่ยวกับบทความ “Energy and the Confused Student I: Work” ก็คือว่า ในการหางานที่เกิดขึ้นกับวัตถุที่หมุน หรืองานที่เกิดขึ้นกับวัตถุที่ยืดและหดได้ โดยใช้สูตร W = F · Δr = FΔr cosθ นั้น นักเรียนควรพิจารณาจุดของวัตถุที่มีแรงมากระทำ (the point of application of the force) แทนพิจารณาวัตถุทั้งก้อน ดังนั้น ในการนำเสนอสูตรดังกล่าว ผู้สอนก็ต้องนำเสนอให้ละเอียด ดังนี้
W = F · Δr = FΔr cosθ
โดย W คือ งานที่เกิดขึ้นกับจุดหนึ่งจุดใดของวัตถุ
F คือ แรงที่กระทำต่อจุดนั้นของวัตถุ
Δr คือ การกระจัดของจุดนั้นของวัตถุ(ที่ซึ่งมีแรงมากระทำ)
θ คือ มุมระหว่างแรงที่กระต่อจุดนั้นของวัตถุ และการกระจัดของจุดนั้น
โดยผู้สอนอาจชี้ให้นักเรียนสังเกตว่า ในกรณีที่วัตถุไม่หมุน หรือในกรณีที่วัตถุไม่ยืดและไม่หด (วัตถุมีขนาดเท่าเดิมเสมอ หรือ วัตถุแข็งเกร็ง) การกระจัดของทุกๆ จุดของวัตถุจะมีค่าเท่ากับการกระจัดของจุดที่มีแรงมากระทำเสมอ ดังนั้น เราสามารถหางานจากสูตร W = F · Δr = FΔr cosθ โดยพิจารณาวัตถุทั้งก้อนได้ครับ
นอกจากนี้ ผู้เขียนบทความยังเสนอด้วยว่า เราสามารถหา “งานลัพธ์” ที่เกิดขึ้นกับวัตถุใดๆ ได้ โดยงานลัพธ์มีค่าเท่ากับผลรวมของงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับทุกจุดของวัตถุนั้น
The net work done by multiple forces on a system is equal to the sum of the works done on the system by each individual force. (page 40)