เรายังอยู่กับการตั้งคำถามของนักเรียนนะครับ เราลองมาดูงานวิจัยที่ศึกษาว่า การตั้งคำถามของนักเรียนจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ทราบจาก “การทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการตั้งคำถามของนักเรียน” แล้วว่า การตั้งคำถามช่วยให้:
- นักเรียนกำหนดทิศทางการเรียนรู้ของตนเองได้
- นักเรียนเกิดการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน
- นักเรียนประเมินและทราบถึงสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้หรือยังไม่เข้าใจ
- นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็นและสนใจเรียนวิทยาศาสตร์
อันนี้เป็นงานวิจัยหนึ่งที่สนับสนุนประโยชน์ของการตั้งคำถามของนักเรียนข้างต้น งานวิจัยนี้มีชื่อว่า “Student-Generated Questions: A Meaningful Aspect of Learning in Science” วัตถประสงค์ของงานวิจัยนี้คือเพื่อ:
- ระบุประเภทของคำถามที่นักเรียนถามในระหว่างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
- อธิบายบทบาทของคำถามเหล่านั้นในกระบวนการสร้างความรู้ของนักเรียน
- ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคำถามของนักเรียนและวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน
- อภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามของนักเรียน
เนื่องจากงานวิจัยนี้เน้นการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการตั้งคำถามของนักเรียน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเลือกเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากนักเรียนชั้น ม. 2 เพียง 6 คน (2 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน) ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการสังเกตและบันทึกสิ่งที่นักเรียนแต่ละกลุ่มอภิปรายร่วมกันในระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การแยกเกลือออกจากทราย การวิเคราะห์สารปริศนา การหาจุดเดือดของของเหลว โครมาโตกราฟฟี การสืบสวนรอยปากของฆาตกร การเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างสังกะสีและกรดไฮโดรคลอริก และการหาค่าความเป็นกรด-เบสของสาร เป็นต้น (บางกิจกรรมเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาปลายเปิด ในขณะที่บางกิจกรรมเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่ครูได้กำหนดไว้) นอกจากนี้แล้ว ผู้วิจัยยังเก็บข้อมูลโดยการให้นักเรียนตั้งคำถามภายหลังการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย ทั้งโดยการให้นักเรียนเขียนคำถามลงในสมุดบันทึก และโดยการสัมภาษณ์นักเรียนเป็นรายบุคคล
ในการวิเคราะห์คำถามของนักเรียนนั้น ผู้วิจัยเริ่มต้นด้วยการจัดกลุ่มคำถามของนักเรียนออกเป็น 2 ประเภท ผู้วิจัยเรียกคำถามประเภทแรกว่า “คำถามข้อมูลพื้นฐาน” (basic information questions) ในขณะที่คำถามประเภทหลังเป็น “คำถามจากความสงสัย” (wonderment questions) ผู้วิจัยเอาเกณฑ์การจัดประเภทของคำถามนี้มาจากงานวิจัยเรื่อง “Text-based and knowledge-based questioning by children” อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยเห็นว่า เกณฑ์การจัดประเภทของคำถามนี้ยังคงกว้างไป ผู้วิจัยจึงจัดประเภทย่อยของคำถามทั้ง 2 ประเภทต่อไปอีก โดยคำถามประเภทแรก (คำถามข้อมูลพื้นฐาน) มี 2 ประเภทย่อย คือ (1.1) คำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริง (factual questions) และ (1.2) คำถามเกี่ยวกับวิธีการ (procedural questions) ส่วนคำถามประเภทหลังก็ถูกจัดเป็นประเภทย่อยอีก ดังนี้ (2.1) คำถามเพื่อความเข้าใจ (comprehension questions) (2.2) คำถามเพื่อการทำนาย (prediction questions) (2.3) คำถามเพื่อตรวจสอบข้อมูลแปลกปลอม (anomaly detection questions) (2.4) คำถามเพื่อการนำไปใช้ (application questions) และ (2.5) คำถามเพื่อการวางแผนเชิงยุทธวิธี (planning or strategy questions)
ผลการวิจัยเป็นดังนี้ครับ
… most of the questions that the students asked during the hands-on activities were generally not of a conceptually high level that were manifestations of deep thinking. There were 190 basic information questions and only 30 wonderment questions (หน้า 532)
ส่วนใหญ่ของคำถามที่นักเรียนถามในระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่คำถามขั้นสูงที่สะท้อนการคิดที่ลึกซึ้ง คำถามข้อมูลพื้นฐานมีทั้งสิ้น 190 ข้อ แต่คำถามจากความสงสัยมีเพียง 30 ข้อเท่านั้น (ไม่ถึงร้อยละ 14)
Among the 30 wonderment questions, half (15) were comprehension question which focused on explanations and an understanding of events or phenomena. (หน้า 532)
ในจำนวนคำถามจากความสงสัย 30 ข้อ ครึ่งหนึ่ง (15) เป็นคำถามเพื่อความเข้าใจที่เน้นการอธิบายและการสร้างความเข้าใจปรากฏการณ์(ที่นักเรียนกำลังศึกษา)
ผู้วิจัยบรรลุวัตถุประสงค์วิจัยข้อที่ 1 แล้วนะครับ นั่นคือ การระบุประเภทของคำถามที่นักเรียนถามในระหว่างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ในการนี้ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์คำพูดของนักเรียนในระหว่างการอภิปรายร่วมกันภายในกลุ่ม เพื่อวิเคราะห์ว่า คำถามที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการเรียนรู้ภายในกลุ่มอย่างไรบ้าง ผู้วิจัยพบว่า
Most of the talk during this activity was procedural and centered on tasks involved with recording the color changes and noting the number of drops of solution added … basic information … questions had little effect on students’ subsequent cognitive behaviors, and engendered little productive discourse. (หน้าที่ 534)
ส่วนใหญ่ของคำพูดในระหว่างกิจกรรมนี้ (การหาค่าความเป็นกรด-เบสของสาร) เกี่ยวกับวิธีการ และเน้นภาระงาน(ที่นักเรียนต้องทำ เช่น) การบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสีและจำนวนหยดของสารละลาย … คำถามข้อมูลพื้นฐานส่งผลต่อพฤติกรรมทางสติปัญหาของนักเรียนน้อยมาก และก่อให้เกิดการอภิปรายที่เป็นประโยชน์เพียงเล็กน้อย
… these (wonderment) questions, which arose because of the students’ speculation or puzzlement, served to direct further inquiry and elicit explanations of what was going on. Because these questions piqued the students’ interest, they were followed up on, generating further discussions at a conceptual level (หน้า 536)
คำถาม(จากความสงสัย)เหล่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจากการคิดใคร่ครวญหรือความสงสัยของนักเรียน กำหนดทิศทางการสืบเสาะเพิ่มเติม และหาคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากคำถามเหล่านี้มาจากความสนใจของนักเรียนเอง พวกเขา/เธอจึงติดตามหาคำตอบ และอภิปรายร่วมกันในระดับแนวคิด
ผู้วิจัยบรรลุวัตถุประสงค์วิจัยข้อที่ 2 แล้วนะครับในการอธิบายว่า คำถามแต่ละประเภทมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการสร้างความรู้ของนักเรียน
ในส่วนของวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 และ 4 ผมขอละไว้นะครับ แต่ผมขอพูดอีกสักประเด็นหนึ่ง ตามที่ผู้วิจัยเขียนบันทึกไว้ ดังนี้ครับ
the activity on the separation of a salt-sand mixture, which was the only one that was open-ended and problem-solving in nature, elicited a comparatively high percentage (30%) of wonderment questions. In contrast, where step-by-step- instruction were given, the student were engrossed in following procedures and this resulted in far more procedural questions being asked. (หน้าที่ 540)
กิจกรรมการแยกเกลือออกจากทราย ซึ่งเป็นกิจกรรมเดียวที่เป็นกิจกรรมการแก้ปัญหาปลายเปิด ก่อให้เกิดคำถามจากความสงสัยในเปอร์เซนต์ที่ค่อนข้างสูง (30%) แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อนักเรียนถูกกำหนดให้ทำกิจกรรมตามลำดับขั้นตอน นักเรียนหมกหมุ่นและกังวลอยู่กับการปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านั้น ซึ่งส่งผลให้นักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการเป็นจำนวนมาก
นั่นหมายความว่า ธรรมชาติของกิจกรรมส่งผลต่อลักษณะของคำถามที่นักเรียนถาม หากเราอยากให้นักเรียนตั้งคำถามขั้นสูง กิจกรรมควรเป็นการแก้ปัญหาปลายเปิด ไม่ใช่กิจกรรมที่ให้นักเรียนปฏิบัติตามขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลตามที่ครูหรือหนังสือได้ระบุไว้