ตัวอย่างเกณฑ์การตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์

อันนี้เป็นอีกบทความหนึ่งนะครับเกี่ยวกับการส่งเสริมความสามารถในการตั้งคำถามของนักเรียน บทความนี้มีชื่อเก๋ๆ ว่า “Good Science Begins with Good Questions” ซึ่งเราสามารถแปลได้ว่า (การสืบเสาะทาง)วิทยาศาสตร์ “ที่ดี” เริ่มต้นด้วยคำถาม “ที่ดี” หากนักเรียนรู้จักตั้งคำถาม “ที่ดี” แล้ว คำถามนั้นจะนำพานักเรียนไปสู่กระบวนการหาคำตอบ (หรือการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์) ได้ง่าย ตรงประเด็น และเป็นระบบมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากนักเรียนตั้งคำถามได้ไม่ดีพอ มันก็ยากที่นักเรียนจะหาคำตอบของคำถามที่ “ไม่ดี” เหล่านั้น ปัญหา ณ ตอนนี้คือว่า คำถาม “ที่ดี” นั้นควรมีลักษณะอย่างไร

นักการศึกษาหลายคนพยายามสร้างเกณฑ์เพื่อบ่งชี้ลักษณะของคำถาม “ที่ดี” โดยทั่วไปแล้ว คำถาม “ที่ดี” จะสะท้อนถึงกระบวนการคิดขั้นสูงของผู้ถาม และสะท้อนถึงความซับซ้อนของกระบวนการหาคำตอบของคำถามนั้น ในขณะที่คำถามที่ไม่ค่อยดี (หรือดีน้อยกว่า) ก็เป็นคำถามที่ไม่สะท้อนกระบวนการคิดขั้นสูงของผู้ถาม หากแต่เป็นคำถามที่เน้นความจำ ซึ่งผู้ตอบคำถามนั้นสามารถหาคำตอบได้ไม่ยาก (ทั้งจากการถามผู้รู้ จากการสืบค้นอินเตอร์เน็ต และ/หรือจากการอ่านหนังสือ เป็นต้น) อย่างไรก็ดี นักการศึกษาบางคนเห็นว่า ลักษณะของคำถาม “ที่ดี” อาจไม่เหมือนกันในแต่ละสาขาวิชา คำถาม “ที่ดี” ที่สาขาวิชาหนึ่งอาจเป็นคำถามที่ไม่ค่อยดีในอีกสาขาวิชาหนึ่งก็ได้ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ศึกษาจึงพยายามระบุลักษณะของคำถาม “ที่ดี” ในทางวิทยาศาสตร์

ในการนี้ ผู้วิจัยให้เหตุผลของความพยายามในการระบุลักษณะขิงคำถาม “ที่ดี” ในทางวิทยาศาสตร์ไว้ว่า (หน้าที่ 192)

… to help students evaluate questions, we need to provide them with appropriate criteria together with examples of different types of questions. Only then can they begin to recognize which are high-level and which are low-level questions.

เพื่อช่วยให้นักเรียนประเมินคำถาม(ของตนเอง) เราต้องระบุให้นักเรียนทราบถึงเกณฑ์การประเมิน(คำถาม) ร่วมกับตัวอย่างคำถามแบบต่างๆ นักเรียนจึงสามารถตระหนักและทราบได้ว่า คำถามแบบไหนเป็นคำถามขั้นสูง และคำถามแบบไหนเป็นคำถามขั้นต่ำ

ในการนี้ ผู้วิจัยได้ขอให้นักเรียน จำนวน 267 คน เขียนคำถามหลังจากการอ่านหนังสือชีววิทยาในแต่ละบท ซึ่งผู้วิจัยรวบรวมคำถามได้ทั้งสิ้น 543 ข้อ จากนั้น ผู้วิจัยนำคำถามทั้งหมดมาจัดเป็นกลุ่ม (ซึ่งก็คือวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพทั่วไป) และได้ผลการจัดกลุ่มคำถาม ดังนี้ (หน้าที่ 193 – 194)

คำถามประเภทที่ 1 เป็นคำถามที่ไม่สื่อความหมายอย่างชัดเจนว่า ผู้ถามอยากรู้อะไร ซึ่งอาจเกิดการข้อผิดพลาดทางไวยกรณ์หรือทางตรรกะ หรือเป็นคำถามที่แฝงความเข้าใจหรือแนวคิดที่คลาดเคลื่อนของผู้ถาม

คำถามประเภทที่ 2 เป็นคำถามที่เน้นคำนิยามหรือความหมายของคำที่ปรากฏในหนังสือ ซึ่งอาจเป็นการถามถึงนิยามของศัพท์เฉพาะ (เช่น เซลล์คืออะไร) หรืออาจเป็นการถามถึงแนวคิด/กระบวนการที่ซับซ้อนก็ได้ (เช่น กระบวนการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสเป็นอย่างไร) คำถามประเภทนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ถามอาจไม่ได้อ่านหนังสือด้วยความตั้งใจหรืออ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจนั่นเอง

คำถามประเภทที่ 3 เป็นคำถามที่แสดงว่า ผู้ถามต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือ คำถามประเภทนี้อาจเป็นคำถามเกี่ยวกับเหตุผล เจตนา หรือความตั้งใจ ที่ซ่อนเร้นอยู่ในการกระทำต่างๆ (เช่น เหตุใดข้อกำหนดสากลจึงต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้) หรืออาจเป็นคำถามที่จะนำไปสู่การอธิบายเชิงวิวัฒนาการเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (เช่น ทำไมคนเรายังคงมีขนตามตัวอยู่ ทั้งๆ ที่การสวมเสื้อผ้าสามารถช่วยบรรเทาความหนาวได้แล้ว) หรืออาจเป็นคำถามที่ต่อยอดมาจากการอ่านหนังสือ (เช่น ไวรัสทุกชนิดจำเป็นต้องทำร้ายโฮสของมันหรือไม่ เพราะเหตุใด) คำถามเหล่านี้เน้นการหาเหตุผลเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่

คำถามประเภทที่ 4 เป็นคำถามเกิดจากช่องว่างหรือความไม่ลงรอยกันระหว่างสิ่งที่ผู้ถามรู้อยู่เดิมและข้อมูลใหม่ที่ผู้ถามได้มาจากการอ่านหนังสือ (เช่น โปรตีนถูกสร้างในไซโตรพลาสซึม แล้วทำไมไรโบโซมจึงไปอยู่ในนิวเคลียส) หรือเป็นคำถามที่ระบุถึง “สมมติฐาน” ของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ (เช่น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในแต่ละพื้นที่มีหมู่เลือดเหมือนกัน มันมีหลักฐานไหมว่า หมู่เลือดหนึ่งมีความได้เปรียบในเชิงวิวัฒนาการมากกว่าหมู่เลือดอื่นๆ)

ผมขอสรุปไว้ตรงนี้นิดนึงว่า คำถาม “ที่ดี” ในทางวิทยาศาสตร์จากการศึกษาครั้งนี้ก็็คือ “คำถามที่แฝงไว้ซึ่งสมมติฐานที่ผู้ถามสามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่อไปได้”

ในการนี้ ผู้จัยได้นำเสนอเกณฑ์การพิจารณาคำถามนี้กับนักเรียน พร้อมทั้งระบุว่า ผู้วิจัยคาดหวังคำถามลักษณะใดเป็นพิเศษ (ซึ่งก็คือคำถามประเภทที่ 4) ผู้วิจัยพบว่า การนำเสนอเกณฑ์การพิจารณาคำถามช่วยให้นักเรียนตั้งคำถามได้ดีขึ้น และยังช่วยให้นักเรียนประเมินคำถามของตนเองได้ง่ายขึ้นด้วย (หน้าที่ 194)

อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยเตือนว่า เกณฑ์การพิจารณาคำถามนี้อาจไม่เหมาะกับวิชาอื่นๆ รวมทั้งวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ เช่น เคมี ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเชิญชวนให้มีการสร้างเกณฑ์การพิจารณาคำถาม “ที่ดี” ในทางวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย (หน้าที่ 195)