Abduction

เมื่อก่อนผมเข้าใจว่า การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการอนุมาน 2 แบบเท่านั้น นั่นคือ การอนุมานแบบนิรนัย (Deductive inference) และการอนุมานแบบอุปนัย (Inductive inference) แต่จากการอ่านหนังสือเรื่อง “Abduction, Reason, and Science: Processes of Discovery and Explanation” ผมได้เรียนรู้การอนุมานอีกแบบ ซึ่งมีชื่อว่า “Abduction” (หรือเราอาจเรียกว่า “Abductive inference” ก็ได้ครับ)

ผมลองตรวจสอบคำศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานแล้ว แต่ผมก็ไม่พบคำในภาษาไทย อย่างไรก็ดี บางคนอาจใช้คำว่า “สมมตินัย” ในขณะที่บางคนอาจใช้คำว่า “จารนัย” ดังนั้น ณ ที่นี้ ผมขอทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปก่อนนะครับ

โดยความหมายอย่างกว้างๆ แล้ว Abduction เป็นการอนุมานเพื่อสร้างสมมติฐานที่อธิบาย ปรากฏการณ์ใดๆ ผมขอย้ำคำว่า “สร้างสมมติฐาน” และคำว่า “อธิบาย” ทั้งนี้เพื่อสื่อว่า ผลของการอนุมานแบบนี้ก็คือ “คำอธิบายที่เป็นไปได้” กล่าวคือ มันเป็นเพียงการคาดเดาว่า ปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นจากอะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร หากเราพิจารณาให้ดี เราจะสังเกตพบว่า เรามักมีการอนุมานแบบนี้อยู่เป็นประจำ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราสตาร์ทรถไม่ติด เราก็ตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายว่า มันน่าจะเป็นเพราะแบตเตอรี่หมดสภาพ มันน่าจะเป็นเพราะน้ำมันหมด หรือมันน่าจะเป็นเพราะสาเหตุอย่างอื่น เป็นต้น หากเราพิจารณาให้ดีต่อไปอีก เราก็จะสังเกตพบว่า คนในสมัยก่อนก็มีการอนุมานแบบนี้ เช่น ฝนตกเพราะกบร้อง ฟ้าแลบเพราะเมขลาล่อแก้ว ฟ้าร้องเพราะรามสูรขว้างขวาน และจันทรุปราคาเกิดขึ้นเพราะราหูอมจันทร์ เป็นต้น

การอนุมานแบบนี้ไม่ใช่ทั้ง “การอนุมานแบบนิรนัย” และ “การอนุมานแบบอุปนัย” ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ (หน้าที่ 21 – 22) เพื่อให้ผู้อ่านเห็นความแตกต่างระหว่างการอนุมานทั้ง 3 แบบ สมมติผมมีข้อมูลอยู่ 3 ประการ ดังนี้

  1. ถ้าใครคนหนึ่งเป็นโรคปอดบวม ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนนั้นเพิ่มขึ้น [หลักการทั่วไป]
  2. จอห์นเป็นโรคปอดบวม [สาเหตุเฉพาะกรณี]
  3. ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของจอห์นจะเพิ่มขึ้น [ผลเฉพาะกรณี]

หากเราทราบว่า “ถ้าใครคนหนึ่งเป็นโรคปอดบวม ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนนั้นเพิ่มขึ้น” และ “จอห์นเป็นโรคปอดบวม” เราก็สามารถอนุมานแบบนิรนัยได้ว่า “ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของจอห์นน่าจะเพิ่มขึ้น” การอนุมานแบบนี้เป็นการใช้หลักการทั่วไป ร่วมกับสาเหตุในกรณีเฉพาะใดๆ เพื่อ “ทำนายผล” ที่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีเฉพาะนั้น

แต่หากเราทราบว่า “จอห์นเป็นโรคปอดบวม” และ “ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของจอห์นเพิ่มขึ้น” เราก็สามารถอนุมานแบบอุปนัยได้ว่า “ถ้าใครเป็นโรคปอดบวม ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของเขา/เธอจะเพิ่มขึ้น” การอนุมานแบบนี้เริ่มต้นจากการเชื่อมโยงสาเหตุและผลในกรณีเฉพาะใดๆ เพื่อ “สร้างหลักการทั่วไป” สำหรับการใช้ในกรณีอื่นๆ

แต่หากเราทราบว่า “ถ้าใครคนหนึ่งเป็นโรคปอดบวม ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนนั้นเพิ่มขึ้น” และ “ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวของจอห์นเพิ่มขึ้น” เราก็สามารถอนุมานแบบ Abductive ได้ว่า “จอห์นน่าจะเป็นโรคปอดบวม” การอนุมานแบบนี้เป็นการใช้หลักการทั่วไป ร่วมกับผลในกรณีเฉพาะใดๆ เพื่อ “ระบุสาเหตุ” ที่น่าจะเป็นไปได้ในกรณีเฉพาะนั้น

เนื่องจากวิทยาศาสตร์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ “อธิบาย” ว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้นเพราะอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร การอนุมานแบบ Abductive จึงมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มันมักเกิดขึ้น “ก่อน” การอนุมานแบบอื่นๆ ครับ ข้างล่างเป็นภาพจากอินเตอร์เน็ตที่แสดงความสัมพันธ์ของ Abduction, Deduction, และ Induction ครับ

Source: http://www.agfa.com/w3c/Talks/2011/01swig/FlachKakas.png

ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ครับ

ในทางปรัชญาแล้ว มนุษย์เรามีข้อจำกัดในการเข้าถึงความเป็นจริง  (Reality) ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นว่า เราไม่สามารถศึกษาโดยตรงได้ว่า ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ได้อย่างไร เอกภพเกิดขึ้นได้อย่างไร และภายนอกเอกภพคืออะไร เป็นต้น สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือการสังเกต (Observation) ความเป็นจริงนั้นภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ [การสังเกตในที่นี้อาจมีการจัดกระทำหรือควบคุมตัวแปรหรือไม่ก็ได้ครับ] เมื่อเรามีข้อมูลจากการสังเกตแล้ว เราก็มักสร้างคำอธิบายว่า สิ่งที่เราสังเกตนั้นเกิดขึ้นจากอะไรหรือเพราะอะไร อันนี้แหละครับคือ Abduction ซึ่งผลที่ได้ก็คือสมมติฐาน (Hypothesis) ที่อธิบายผลการสังเกตนั้น ในการที่เราจะมั่นใจได้ว่า สมมติฐานที่เราตั้งขึ้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เราก็ต้องสร้างคำทำนาย (Prediction) บนพื้นฐานของสมมติฐานนั้น จากนั้น เราก็ตรวจสอบว่าคำนายนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ การตรวจสอบเพียงครั้งเดียวมักไม่เพียงพอในการสร้างความน่าเชื่อถือของคำทำนาย (และสมมติฐาน) การตรวจสอบจึงต้องมีหลายครั้ง (Induction) หากผลการตรวจสอบหลายๆ ครั้งตรงกันกับความเป็นจริง เราก็สามารถเชื่อมั่นในสมมติฐานที่เราสร้างขึ้นจาก Abduction ครับ แต่หากไม่ เราก็ต้องทำการตั้งสมมติฐานใหม่ หรือทำ Abduction ใหม่นั่นเอง

แต่เนื่องจากมนุษย์เราไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงได้โดยตรง เราก็ไม่อาจกล่าวได้ด้วยความมั่นใจ 100% ว่า สมมติฐานนั้นคือความเป็นจริง [มันแค่ “ตรง” กับความเป็นจริง แต่ “ไม่ใช่” ความเป็นจริง] ดังนั้น Abduction ก็คือการอนุมานเพื่อหาคำอธิบายที่ดีที่สุดเท่านั้นเอง [Abduction as inference to the best explanation]