ในเรื่อง Situated Learning ซึ่งผมได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้นั้น ผมได้ทิ้งไว้ประเด็นหนึ่งว่า ในการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกระบวนการที่มีชื่อว่า “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” หรือในชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า “Legitimate Peripheral Participation” จนกระทั่งนักเรียนสามารถปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ได้นั้น เราต้องมีการกำหนดก่อนว่า “การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์มีมิติหรือลักษณะสำคัญอะไรบ้าง” ในการนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดออกมาแล้ว ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารอย่างเป็นทางการที่มีชื่อว่า “Next Generation Science Standards” ในที่นี้ ผมขอแปลเป็นภาษาไทยว่า “มาตรฐาน(การเรียนรู้)วิทยาศาสตร์รุ่นต่อไป” เราลองมาดูกันดีกว่าครับว่า ลักษณะสำคัญของการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ 8 ประการมีอะไรบ้าง
- การตั้งคำถาม(ที่เป็นวิทยาศาสตร์)
- การพัฒนาและใช้แบบจำลอง
- การวางแผนและการทำการศึกษา(ทางวิทยาศาสตร์)
- การวิเคราะห์และตีความหมายข้อมูล
- การใช้คณิตศาสตร์และการคิดเชิงคำนวณ
- การสร้างคำอธิบาย(ทางวิทยาศาสตร์)
- การมีส่วนร่วมในการโต้แย้งด้วยหลักฐาน
- การได้รับ ประเมิน และสื่อสารสารสนเทศต่างๆ
นั่นหมายความว่า นักเรียนควรได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ลักษณะทั้ง 8 ประการนี้