งานวิจัยแบบมุมมองที่ 1 2 และ 3

เนื่องจากอาจารย์หลายท่านเคยหรือกำลังเข้าร่วม “โครงการพัฒนาศักยภาพครูเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งมีการส่งเสริมให้ครูทำงานวิจัยปฎิบัติการ (Action Research) อาจารย์หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่า งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (ตามโครงการพัฒนาศักยภาพครูผู้นำฯ)  กับ งานวิจัยเชิงคุณภาพ (ตามโครงการ “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ”) เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

จากการมีส่วนร่วมกับทั้ง 2 โครงการ ผมขอตอบ (ตามความเข้าใจของตัวเอง) ดังนี้

โครงการทั้งสองเหมือนกันในแง่ของความพยายามในการส่งเสริมให้ครูทำวิจัยแบบที่แตกต่างไปจากงานวิจัยแบบดั้งเดิม (นั่นคือ งานวิจัยเชิงปริมาณ) ที่เน้นการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลระหว่างตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่แต่ละโครงการส่งเสริมนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่

เพื่อความชัดเจน ผมขอยกข้อความตอนหนึ่งในหนังสือเรื่อง “งานวิจัยแบบฉัน (งานวิจัยมุมมองที่หนึ่ง)” (หิมพรรณ, 2555: 18 – 19) ดังนี้

เราอาจแ่บ่งประเภทของการวิจัยตามมุมมองแบบกว้างๆ ได้ ๓ แบบ คือ

๑. งานวิจัยแบบมุมมองที่หนึ่ง หมายถึง การศึกษาค้นหาความรู้จากประสบการณ์โดยตรงของผู้วิจัยเอง เป็นการศึกษาเชิงอัตวิสัยที่มี “ฉัน” เป็นแกนกลาง

๒. งานวิจัยแบบมุมมองที่สอง หมายถึง การศึกษาที่มีการปฏิสัมพันธ์และการรับฟังประสบการณ์ของผู้อื่น เพื่อค้นหาความรู้ที่มี “เธอ” เป็นแกนกลาง …

๓. งานวิจัยแบบมุมมองที่สาม หมายถึง การศึกษาที่ผู้วิจัยเฝ้าสังเกตกลุ่มคน วัตถุ และระบบใดๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงประสบการณ์ของสิ่งเหล่านั้น เป็นการศึกษาเชิงวัตถุวิสัยที่มี “พวกเขา” หรือ “พวกมัน” เป็นแกนกลาง (ตัวหนาเป็นไปตามต้นฉบับ)

งานวิจัยที่โครงการ “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” ส่งเสริมนั้นเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้าใจของนักเรียน จากข้อความข้างต้น งานวิจัยแบบนี้เป็นงานวิจัยแบบมุมมองที่ 2 เพราะเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ การรับฟัง และการทำความเข้าใจผู้อื่น (นั่นคือ นักเรียน)

ส่วนงานวิจัยที่ “โครงการพัฒนาศักยภาพครูเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ส่งเสริมนั้นเป็นงานวิจัยปฏิบัติการ ซึ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับตัวเอง เพื่อนำไปสู่ความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง และการลงมือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงตัวเอง งานวิจัยแบบนี้จึงเป็นงานวิจัยแบบมุมมองที่ 1 ซึ่งในรายงานวิจัยมักใช้คำว่า “ฉัน” แทนผู้วิจัย

ในขณะที่งานวิจัยเชิงปริมาณแบบดั้งเดิม (รวมทั้งงานวิจัยประเภททดลองทางวิทยาศาสตร์) เป็นงานวิจัยแบบมุมมองที่ 3 ครับ

ผมสรุปเป็นแผนภาพ ดังนี้

TypesResearch