ผมขอนำเสนอเกี่ยวกับ PISA 2015 อีกหน่อยนะครับ ซึ่งผมนำเสนอไปในครั้งที่แล้วว่า PISA 2015 ประเมินความรู้ทางวิทยาศาสตร์อะไรบ้าง เราลองมาดูวิธีการประเมินหรือรูปแบบของคำถามบ้างนะครับ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “การใช้กระดาษ” มาเป็น “การใช้ คอมพิวเตอร์” ครับ
“กรอบการประเมินการรู้วิทยาศาสตร์ของ PISA 2015” ได้ให้ตัวอย่างสถานการณ์ของคำถามที่ใช้คอมพิวเตอร์มาข้อหนึ่งครับ ซึ่งมีชื่อว่า “ZEER POT” อันนี้ก็คือสิ่งประดิษฐ์สมัยก่อน ซึ่งมนุษย์คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้เก็บอาหารให้ได้นานขึ้นครับ สิ่งนี้ประกอบด้วยภาชนะดินเผา 2 ใบ ซึ่งซ้อนกันอยู่ [ใบหนึ่งอยู่ในอีกใบหนึ่ง] โดยมีทรายชุ่มน้ำอยู่ในช่องว่างระหว่างภาชนะทั้ง 2 ใบ การทำงานของสิ่งนี้ก็คือว่า เมื่อโมเลกุลของน้ำได้รับความร้อนจากอากาศภายใน โมเลกุลของน้ำก็จะระเหยกลายเป็นไอ และเคลื่อนที่ออกไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอก นั่นคือ โมเลกุลของน้ำพาความร้อนจากภายในไปสู่ภายนอก ทำให้อุณหภูมิภายในต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอกครับ อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ต้องมีการเติมน้ำลงในไปทรายอยู่เสมอๆ ครับ สถานการณ์ในข้อสอบ PISA 2015 ก็จะเป็นดังนี้ครับ (หน้าที่ 35)
นักเรียนจะต้องทำการทดลองเสมือนเพื่อศึกษาว่า ปริมาณอาหารที่สิ่งนี้สามารถเก็บได้สูงสุดมีค่าเท่าไหร่ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “อุณหภูมิภายในที่ 4 °C เป็นค่าที่ดีที่สุดในการเก็บอาหาร” ในการนี้ นักเรียนต้องศึกษาว่า “ความหนาของชั้นทราย” และ “ความชื้นของทราย” เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิภายในอย่างไร โดยในสถานการณ์นี้ เขากำหนดให้ “อุณหภูมิของอากาศ” และ “ความชื้นของอากาศ” มีค่าคงตัวครับ ดังนั้น ในการออกแบบการทดลอง (ซึ่งต้องมากกว่า 1 ครั้ง) นักเรียนก็ต้องรู้และกำหนดได้ว่า อะไรคือตัวแปรต้น อะไรคือตัวแปรตาม และอะไรคือตัวแปรควบคุม จากนั้น นักเรียนก็ต้องพิจารณาว่า ผลการทดลองเป็นอย่างไร หมายความว่าอย่างไร และจะนำไปสู่ข้อสรุปอะไร โปรแกรมจะบันทึกสิ่งต่างๆ ที่นักเรียนกระทำในระหว่างการทำการทดลองเสมือนนี้ครับ
สถานการณ์นี้เป็นการวัด “ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” ผ่านการแสดงความสามารถด้าน “การออกแบบและประเมินการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” ภายใต้บริบทที่อยู่ในหมวดหมู่ “สุขภาพและโรคภัย” ในขอบเขต “ระดับส่วนบุคคล” ครับ
ณ ตอนนี้ ผมคิดได้เพียงแค่ว่า เราน่าจะเตรียมความพร้อม เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับการทดลองเสมือนไว้บ้างก็ดีนะครับ เท่าที่ผมรู้จักตอนนี้ก็มี PhET ครับ