PISA 2015

ในขณะนี้ หลายฝ่ายคงกำลังลุ้นกันว่า ผลการประเมิน PISA 2012 จะเป็นยังไงบ้าง โดย OECD ได้กำหนดไว้ว่า การประกาศผลอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557 อย่างไรก็ตาม ข่าวจากวงในได้เผยผลการประเมิน PISA 2012 อย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้วนะครับ ซึ่งนักเรียนไทยทำคะแนนได้สูงขึ้น ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื้อหาในข่าวเป็นประมาณนี้ครับ

(คะแนนด้าน)วิทยาศาสตร์ จาก(เดิม) 425 ขึ้น(ไป) 30 กว่าแต้ม, (คะแนนด้าน)คณิตศาสตร์ จาก(เดิม) 419 ขึ้น(ไป) 8 แต้ม และ(คะแนนด้าน)การอ่าน จาก(เดิม) 421 ขึ้น(ไป) 20 แต้ม

ข่าวนี้จะจริงหรือเท็จอย่างไร การประกาศผลอย่างเป็นทางการจะให้คำตอบครับ

แม้เรายังดีใจกับข่าวข้างต้นได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่ แต่ที่แน่นอนก็คือว่า ในปี ค.ศ. 2015 นักเรียนไทยที่มีอายุประมาณ 15 ปี จะต้องเข้ารับการประเมิน PISA อีกแล้วนะครับ โดยการประเมินครั้งนี้จะเน้นการประเมิน “การรู้วิทยาศาสตร์” เป็นหลักครับ ในตอนนี้ OECD ก็ได้กำหนด ” กรอบการประเมินด้านการรู้วิทยาศาสตร์ ของ PISA 2015” ออกมาแล้วครับ เรามาดูรายละเอียดกันหน่อยดีกว่าครับ

ในการประเมินการรู้วิทยาศาสตร์ของ PISA 2015 นั้น OECD จะประเมินความรู้ 3 ด้านครับ ซึ่งประกอบด้วย 1. ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิทยาศาสตร์ (Content Knowledge) 2. ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Procedural Knowledge) และ 3. ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Epistemic Knowledge) อัตราส่วนโดยประมาณของการประเมินความรู้แต่ละด้านจะเป็นดังนี้ครับ (หน้าที่ 46)

  • ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิทยาศาสตร์ ประมาณร้อยละ 54 – 66
  • ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประมาณร้อยละ 19 – 31
  • ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ประมาณร้อยละ 10 – 22

การประเมินการรู้วิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ด้านเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบแยกส่วนนะครับ แต่เป็นการประเมินรวมๆ กัน โดยพิจารณาจากความสามารถที่นักเรียนแต่ละคนแสดงออกมาในสถานการณ์ต่างๆ ความสามารถนี้ประกอบด้วย 1. การอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Explaining phenomena scientifically) 2. การออกแบบและประเมินการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ (Evaluating and designing scientific enquiry) และ 3. การตีความหมายข้อมูลและหลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Interpreting data and evidence scientifically) อัตราส่วนโดยประมาณของการประเมินความสามารถแต่ละด้านจะเป็นดังนี้ครับ (หน้าที่ 47)

  • การอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ประมาณร้อยละ 40 – 50
  • การออกแบบและประเมินการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ ประมาณร้อยละ 20 – 30
  • การตีความหมายข้อมูลและหลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ประมาณร้อยละ 30 – 40

การประเมินความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ 3 ด้าน ผ่านการพิจารณาการแสดงออกถึงความสามารถ 3 ด้าน จะเป็นไปโดยการใช้สถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีขอบเขต 3 ระดับ (หน้าที่ 13) คือ 1. ระดับส่วนบุคคล (Personal) 2. ระดับท้องถิ่น/ระดับชาติ (Local/National) และ 3. ระดับโลก (Global) สถานการณ์เหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ซึ่งประกอบด้วย 1. สุขภาพและโรคภัย (Health and Disease) 2. ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) 3. คุณภาพทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Quality) 4. Hazards (ภัยพิบัติ) และ 5. ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Frontier of Science and Technology) [อัตราส่วนของการใช้สถานการณ์แต่ละระดับและแต่ละหมวดหมู่ไม่มีปรากฏไว้ครับ]

เราลองมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินความรู้แต่ละด้านกันหน่อยนะครับ

ในส่วนของความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิทยาศาสตร์ (หน้าที่ 17 -18) เกณฑ์การเลือกเนื้อหาวิทยาศาสตร์ในการประเมินครั้งนี้มี 3 ประการครับ คือ 1. เนื้อหาวิทยาศาสตร์นั้นต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของนักเรียน 2. เนื้อหาวิทยาศาสตร์นั้นต้องเป็นแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย และ 3. เนื้อหาวิทยาศาสตร์นั้นต้องเหมาะสมกับระดับพัฒนาการของนักเรียนที่มีอายุประมาณ 15 ปี โดยเนื้อหาวิทยาศาสตร์เหล่านี้ถูกจัดออกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ 1. ระบบทางกายภาพ (Physical System) 2. ระบบสิ่งมีชีวิต (Living System) และ 3. ระบบโลกและอวกาศ (Earth and Space System) เขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละระบบด้วยครับ ดังนี้

  1. เนื้อหาเกี่ยวกับ “ระบบทางกายภาพ” ประกอบด้วย โครงสร้างของสสาร (เช่น ทฤษฎีอนุภาคของสสาร อะตอม โมเลกุล และพันธะ) สมบัติของสสาร (เช่น การเปลี่ยนสถานะ การนำไฟฟ้า และการนำความร้อน) การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของสสาร (เช่น ปฏิกิริยาเคมี การถ่ายโอนพลังงาน และความเป็นกรด/เบสของสาร) แรงและการเคลื่อนที่ (เช่น ความเร็ว แรงเสียดทาน แรงทางแม่เหล็ก แรงโน้มถ่วง และแรงทางไฟฟ้า) พลังงาน (เช่น กฏการอนุรักษ์พลังงาน การเปลี่ยนรูปพลังงาน และการบริโภคพลังงาน) และ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังงานและสสาร (เช่น แสง เสียง และคลื่นต่างๆ)
  2. เนื้อหาเกี่ยวกับ “ระบบสิ่งมีชีวิต” ประกอบด้วย เซลล์ (เช่น โครงสร้างของเซลล์ หน้าที่ของเซลล์ ดีเอ็นเอ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์) สิ่งมีชีวิตต่างๆ (เช่น สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว และสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์) คน (เช่น สุขภาพ สารอาหาร และระบบต่างๆ ของร่างกาย) ประชากร (เช่น สปีชีส์ วิวัฒนาการ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการแปรผันทางพันธุกรรม) ระบบนิเวศ (เช่น โซ่อาหาร และ การถ่ายทอดพลังงาน ) และชีวาลัย
  3. เนื้อหาเกี่ยวกับ “ระบบโลกและอวกาศ” ประกอบด้วย โครงสร้างของโลก พลังงานในโลก การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก ประวัติของโลก โลกในอวกาศ ประวัติของเอกภพ และอัตราส่วนของสิ่งต่างๆ ภายในเอกภพ

ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย (หน้าที่ 19):

  • การกำหนดและระบุตัวแปรชนิดต่างๆ
  • การวัดค่าของตัวแปรต่างๆ ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ และ ทั้งค่าที่ต่อเนื่องและค่าที่ไม่ต่อเนื่อง
  • การประเมินและการลดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น เช่น การทำซ้ำ และ การหาค่าเฉลี่ย
  • การสร้างและการประเมินความตรงและความเที่ยงของการวัด
  • การจัดกระทำข้อมูลโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ตาราง กราฟ และ แผนภูมิ
  • การควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในการทดลองและในภาคสนาม
  • การออกแบบเพื่อการตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ เช่น การทดลอง และ การสังเกตภาคสนาม

ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย (หน้าที่ 21):

  • ธรรมชาติของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลการสังเกต ข้อเท็จจริง สมมติฐาน แบบจำลอง กฎ และทฤษฎี
  • วัตถุประสงค์และเป้าหมายของวิทยาศาสตร์ (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของเทคโนโลยี)
  • ค่านิยมทางวิทยาศาสตร์ เช่น การยึดมั่นกับการเผยแพร่ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และ การลดอคติส่วนบุคคลในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
  • ธรรมชาติของการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งแบบนิรนัยและแบบอุปนัย การอนุมานจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และการให้เหตุผลโดยอิงจากแบบจำลอง
  • การเชื่อมโยงระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์
  • หน้าที่ของการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์แบบต่างๆ เช่น การทดสอบสมมติฐาน และ การหาแแบบแผนของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
  • การวัดและความไม่แน่นอนของการวัด
  • บทบาทของการทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์
  • บทบาทของความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับการตอบสนองประเด็นทางเทคโนโลยีและสังคม

การดำเนินการประเมินผล PISA 2015 จะใช้คอมพิวเตอร์นะครับ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศนั้นขอใช้แบบกระดาษเหมือนเดิม โจทย์บางข้ออาจเป็นแบบภาพเคลื่อนไหวและเสียง การทำข้อสอบบางข้ออาจเป็นแบบคลิกตอบ การกดปุ่ม การพิมพ์คำตอบ และการลากและเลื่อนสิ่งต่างๆ บนจอคอมพิวเตอร์

ความท้าทายครั้งใหม่กำลังรอเราอยู่ครับ