อันนี้ไม่ใช่การประกาศนะครับว่า สถาบันวิทยาศาสตร์จะมีโครงการอะไรบ้างในปีงบประมาณหน้า มันเป็นเพียงความคิดของผมเฉยๆ ผมพยายามจะต่อยอดโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” โดยการนำเสนออีกโครงการหนึ่ง ซึ่งก็คือ โครงการ Learning Progressions in Science รายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโครงการทั้งสองมีดังนี้ครับ
จากแผนภาพข้างต้น ส่วนล่างเป็นโครงการเดิม ซึ่งก็คือโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” โครงการนี้มุ่งเน้นให้ครูศึกษาความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องต่างๆ โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ผลที่ได้ก็คือว่า เมื่อครูทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการจัดกลุ่มความเข้าใจของนักเรียนแต่ละแบบแล้ว หากเรานำกลุ่มความเข้าใจแบบต่างๆ เหล่านั้นมาเรียงลำดับ จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมากที่สุด ไปยังความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนน้อยกว่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ ตามลำดับ เราก็จะเห็น “เส้นทาง” ที่แสดงถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ซึ่งก็คือ “Learning Progression” นั่นเอง
ในการนี้ เราสามารถนำ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ข้างต้น รวมทั้ง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” จากงานวิจัยอื่นๆ ในต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งแบบวัดและเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ได้ ดังนั้น ทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ แบบวัด และเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ จึงเป็นสิ่งที่อิงตาม “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ในโครงการใหม่ครับ ซึ่งมีชื่อว่า “Learning Progressions in Science” [ชื่อภาษาไทยยังไม่นิ่งครับ หลายคนได้เสนอชื่อต่างๆ กันมาพอสมควร เช่น “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” “ก้าวย่างแห่งการเรียนรู้” “ก้าวมั่นแห่งการเรียนรู้” และ “วิวัฒน์แห่งการเรียนรู้” หากอาจารย์คิดชื่อภาษาไทยที่สื่อความได้ดีและกระชับ อาจารย์จะลองเสนอมาก็ดีนะครับ]
การดำเนินโครงการ Learning Progressions in Science คงเป็นแบบธรรมดาทั่วไป นั่นคือ การอบเรมเชิงปฏิบัติการ แต่ก่อนหน้านั้น ผมยังคิดว่า ทุกๆ กิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งแบบวัดและเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ ควรได้รับการทดลองใช้ ก่อนที่ครูวิทยาศาสตร์ที่เข้ารับการอบรมฯ จะนำไปใช้จริงครับ ในระหว่างนั้น ผมอยากให้มีการติดตามเป็นระยะๆ เพื่อพิจารณาว่า เมื่อเรียนด้วยกิจกรรมที่อิง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” แล้ว นักเรียนส่วนใหญ่มีพัฒนาการทางแนวคิดเช่นเดียวกับ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” หรือไม่ และอย่างไร ในการนี้ ครูวิทยาศาสตร์ที่ใช้กิจกรรมดังกล่าว สามารถใช้แบบวัดและเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือในการวิจัยควบคู่ไปด้วย ซึ่งผลที่ได้ก็อาจออกมาในรูปแบบของการวิจัยเรื่องหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้คือความคิดของผมเกี่ยวกับโครงการในอนาคตครับ