ผมเข้าใจอะไรผิดไปรึเปล่า?

ในช่วงสัปดาห์นี้ อาจารย์อาจได้ยินข่าวทางการศึกษาในทำนองที่ว่า อันดับการศึกษา “ไทย” คุณภาพต่ำตามก้น “เขมร-เวียดนาม” ผมได้ยินแล้วก็ตกใจเหมือนกัน ซึ่งการจัดอันดับที่ว่านี้เป็นของ WEF หรือ “World Economic Forum” เราลองมาดูรายละเอียดกันหน่อยดีกว่าครับ

จากการติดตามข่าวข้างต้น ผมไม่พบการอ้างว่า รายงานของ WEF เป็นฉบับใด แต่ในเว็บไซต์ของ WEF นั้น เขาได้เผยแพร่รายฉบับหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “The Global Competitiveness Report 2013 – 2014” ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 [วันเดียวกันกับวันที่มีข่าวอันดับการศึกษาไทย “ตามก้น” เขมร-เวียดนาม]

ในรายงานของ WEF ข้างต้น เขาได้รายงานผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 148 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในการจัดอันดับนี้ เขาได้พิจารณาข้อมูลหลายด้านนะครับ ซึ่งก็มีด้านที่เกี่ยวกับการศึกษาด้วย ดังภาพครับ

9WEFที่มา: http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalCompetitivenessReport_2013-14.pdf (หน้า 9)

ในคอลัมภ์ซ้ายมือสุด เราจะเห็นข้อที่ 4 นะครับที่ว่า “Health and primary education” ซึ่งก็เป็นเรื่องของสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนในคอลัมภ์กลาง เราจะเห็นข้อที่ 5 ที่ว่า “Higher education and training” ซึ่งก็เป็นเรื่องของการอุดมศึกษาและการฝึกวิชาชีพครับ

เราลองมาดูอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของปี 2013 – 2014 กันก่อนนะครับ ซึ่งเป็นผลรวมของการพิจารณาแต่ละด้านแล้ว อันดับของแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นดังนี้ครับ (หน้า 15)

  1. ประเทศสิงคโปร์ ได้อันดับที่ 2 (จากเดิมได้อันดับที่ 2 ในปี 2012 – 2013)
  2. ประเทศมาเลเซีย ได้อันดับที่ 24 (จากเดิมได้อันดับที่ 25 ในปี 2012 – 2013)
  3. ประเทศบูรไนฯ ได้อันดับที่ 26 (จากเดิมได้อันดับที่ 28 ในปี 2012 – 2013)
  4. ประเทศไทย ได้อันดับที่ 37 (จากเดิมได้อันดับที่ 38 ในปี 2012 – 2013)
  5. ประเทศอินโดนิเซีย ได้อันดับที่ 38 (จากเดิมได้อันดับที่ 50 ในปี 2012 – 2013)
  6. ประเทศฟิลิปปินส์ ได้อันดับที่ 59 (จากเดิมได้อันดับที่ 65 ในปี 2012 – 2013)
  7. ประเทศเวียดนาม ได้อันดับที่ 70 (จากเดิมได้อันดับที่ 75 ในปี 2012 – 2013)
  8. ประเทศลาว ได้อันดับที่ 81 (ไม่มีข้อมูลของปีที่ผ่านมา)
  9. ประเทศกัมพูชา ได้อันดับที่ 88 (จากเดิมได้อันดับที่ 85 ในปี 2012 – 2013)
  10. ประเทศพม่า ได้อันดับที่ 139 (ไม่มีข้อมูลในปีที่ผ่านมา)

หากเราพิจารณาอันดับของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เราจะพบว่า ส่วนใหญ่มีอันดับที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะประเทศอินโดนิเซียที่ีอันดับสูงอย่างก้าวกระโดด) ยกเว้นประเทศกัมพูชาที่มีอันดับต่ำลงเล็กน้อย

เราลองดูเฉพาะด้าน “สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ของประเทศต่างๆ ในอาเซียนกันบ้าง ผมย้ำนะครับว่า อันดับต่อไปนี้เป็นการพิจารณาทั้งสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมกัน (หน้า 18 – 19)

  1. ประเทศสิงคโปร์ ได้อันดับที่ 2
  2. ประเทศบูรไน ได้อันดับที่ 23
  3. ประเทศมาเลเซีย ได้อันดับที่ 33
  4. ประเทศเวียดนาม ได้อันดับที่ 67
  5. ประเทศอินโดนิเซีย ได้อันดับที่ 72
  6. ประเทศลาว ได้อันดับที่ 80
  7. ประเทศไทย ได้อันดับที่ 81
  8. ประเทศฟิลิปปินส์ ได้อันดับที่ 96
  9. ประเทศกัมพูชา ได้อันดับที่ 99
  10. ประเทศพม่า ได้อันดับที่ 111

ประเทศไทยตามหลังประเทศเวียดนามจริงครับ แต่ยังนำหน้าประเทศกัมพูชาอยู่

ในส่วนของอันดับของการอุดมศึกษาและการฝึกอาชีพของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เป็นดังนี้ครับ (หน้า 20 – 21)

  1. ประเทศสิงคโปร์ ได้อันดับที่ 2
  2. ประเทศมาเลเซีย ได้อันดับที่ 46
  3. ประเทศบูรไน ได้อันดับที่ 55
  4. ประเทศอินโดนิเซีย ได้อันดับที่ 64
  5. ประเทศไทย ได้อันดับที่ 66
  6. ประเทศฟิลิปปินส์ ได้อันดับที่ 67
  7. ประเทศเวียดนาม ได้อันดับที่ 95
  8. ประเทศลาว ได้อันดับที่ 111
  9. ประเทศกัมพูชา ได้อันดับที่ 116
  10. ประเทศพม่า ได้อันดับที่ 139

ในด้านนี้ อันดับของประเทศไทยยังคงสูงกว่าทั้งประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนามครับ

หากผมเข้าใจอะไรผิดไป ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ