ตามที่ผมขอค้างไว้ในโพสก่อนหน้านี้ว่า ผมจะนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “A Typology of Undergraduate Students’ Conceptions of Size and Scale: Identifying and Characterizing Conceptual Variation” ผมก็จะทำตามสัญญาในโพสนี้ครับ
ผมขอทบทวนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพนิดนึงก่อนนะครับ
โดยหลักการพื้นฐานแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพก็คือการจัดกลุ่มข้อมูล ตามความหมายที่เหมือนหรือคล้ายกัน ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับแนวคิดของผู้เรียนก็คือการจัดกลุ่มแนวคิดของผู้เรียนนั่นเอง
ผลของการจัดกลุ่มแนวคิดของผู้เรียนที่เราพบอยู่บ่อยๆ ก็คือ การจัดกลุ่มออกเป็น ดังนี้ 1. แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ (Scientific conception: SC) 2. แนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์บางส่วน (Partially scientific conception: PC) 3. แนวคิดที่คลาดเคลื่อน (Misconception: MC) หรือ แนวคิดทางเลือก (Alternative conception: AC) 4. ไม่ีคำตอบ (No responses: NR) ในงานวิจัยบางเรื่อง ผู้วิจัยก็อาจจัดกลุ่มแนวคิดของนักเรียนได้มากกว่าหรือน้อยกว่านี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลในงานวิจัยนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยหลายคนก็ไม่ได้จัดกลุ่มแนวคิดของผู้เรียนตามผลการจัดกลุ่มข้างต้น (SC, PC, MC, และ NR) ผู้วิจัยเหล่านี้มักสร้างและตั้งชื่อกลุ่มขึ้นมาเอง ตามความหมายของข้อมูลที่มีอยู่ (ซึ่งโดยมุมมองส่วนตัวแล้ว ผมว่าแบบนี้น่าสนใจกว่ามากครับ สำหรับผมแล้ว แบบข้างบนดูง่ายและเป็นมาตรฐานเกินไปครับ)
ในงานวิจัยเรื่องที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ ซึ่งผู้วิจัยศึกษาความเข้าใจของนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูล(เชิงคุณภาพ) โดยการจัดกลุ่มแนวคิดของนักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้ครับ
- Fragmented Conceptions (แนวคิดแบบแยกส่วน)
- Linear Conceptions (แนวคิดแบบเส้นตรง)
- Proportional Conceptions (แนวคิดแบบอัตราส่วน)
- Logarithmic Conception (แนวคิดแบบลอการิทึม)
นักศึกษาที่มีแนวคิดแบบแยกส่วนนี้จัดกลุ่มสิ่งต่างๆ ออกเป็นกลุ่มๆ แยกออกจากกัน เช่น กลุ่มที่มีขนาดใหญ่มาก กลุ่มที่มีขนาดปกติ และกลุ่มที่มีขนาดเล็กมาก โดยนักศึกษากลุ่มนี้ไม่เข้าใจถึงความต่อเนื่องของขนาดของสิ่งเหล่านั้นเลย
นักศึกษาที่มีแนวคิดแบบเส้นตรงจัดกลุ่มสิ่งต่างๆ โดยเปรียบเทียบขนาดของสิ่งเหล่านั้นจากประสบการณ์ตรงหรือการสังเกตด้วยตา แต่นักศึกษากลุ่มนี้เข้าใจถึงความต่อเนื่องของขนาดของสิ่งต่างๆ
นักศึกษาที่มีแนวคิดแบบอัตราส่วนจัดกลุ่มสิ่งต่างๆ โดยพิจารณาจำนวนเท่าของขนาดของสิ่งเหล่านั้น เทียบกับวัตถุอ้างอิง นักศึกษากลุ่มนี้เข้าใจถึงความต่อเนื่องของขนาดของสิ่งต่างๆ และขนาดสัมพัทธ์ของสิ่งต่างๆ
นักศึกษาที่มีแนวคิดแบบลอการิทึมจัดกลุ่มสิ่งต่างๆ โดยพิจารณาจำนวนกำลัง 10 ของขนาดของสิ่งเหล่านั้นเทียบกับระบบหน่วยสากล นักศึกษากลุ่มนี้เข้าใจถึงความต่อเนื่องของขนาดของสิ่งต่างๆ ขนาดสัมพัทธ์ของสิ่งต่างๆ กับวัตถุอ้างอิง และขนาดสัมพัทธ์ของสิ่งต่างๆ กับระบบหน่วยสากล
นักศึกษากลุ่มหลังสุดน่าจะมีปัญหาน้อยที่สุดในการเรียนรู้เรื่องขนาดและมาตราส่วนครับ
อาจารย์ที่สนใจเรื่องนี้ลองศึกษาเอกสารต้นฉบับเพิ่มเติมได้ครับ