มันเป็นเรื่องปกตินะครับที่หลักสูตรใดๆ (ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร หรือของประเทศไหน) ต้องระบุความคาดหวังที่หลักสูตรนั้นอยากให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งเราอาจเรียกกันว่า “ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง” (Expected learning outcomes) หลักสูตรวิทยาศาสตร์แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ของประเทศไทยก็ได้ระบุความคาดหวังนั้นไว้เช่นกัน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ “ตัวชี้วัด” และ “สาระการเรียนรู้แกนกลาง” แต่สิ่งที่หลักสูตรไม่อาจระบุได้อย่างเจาะจงก็คือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่จะนำพานักเรียนให้บรรลุตามความคาดหวังเหล่านั้น
การที่หลักสูตรไม่ได้ระบุถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างเจาะจงก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผลนะครับ การระบุอย่างเจาะจงเกินไปว่า “ครูต้องสอนแบบนั้นแบบนี้ การสอนแบบอื่นจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร บลาๆๆๆ” ก็เป็นการบีบบังคับครู ซึ่งโดยธรรมชาติ การบีบบังคับแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะสามารถทำได้อยู่แล้ว [คนที่สอนตามที่หลักสูตรระบุไว้ไม่ได้ ใครก็ไปบังคับให้เขาสอนแบบนั้นไม่ได้อยู่ดี แม้ว่าคนที่ถูกบังคับจะเต็มใจก็ตาม] หากแต่ครูควรมีโอกาสและอิสระในการคิดว่า การจัดการเรียนการสอนแบบใดสามารถนำพานักเรียนของตนเองให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรได้ สิ่งที่ดีที่สุดหลักสูตรทำได้ก็คือการให้ “ข้อเสนอแนะ” เกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรส่วนใหญ่จึงมักเจาะจง “เป้าหมาย” แต่ไม่เจาะจง “วิธีการ” เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
แต่ในบางครั้ง(หรือบ่อยครั้ง) การที่หลักสูตรไม่เจาะจงและเปิดช่องว่างให้ครูได้คิดเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนก็มีข้อด้อยเหมือนกัน เนื่องด้วยความรู้ ประสบการณ์ และทัศนคติที่หลากหลาย ครูแต่ละคนก็มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเป็นของตนเอง ซึ่งก็อาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรก็ได้ นอกจากนี้ การไม่เจาะจงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจนก็อาจทำให้ครูเกิดการตีความที่หลากหลายและผิดเพี้ยนไปจากความตั้งใจของหลักสูตร ในกรณีนี้ แม้หลักสูตรถูกเขียนไว้ดีอย่างไรก็ตาม การนำหลักสูตรไปใช้ก็อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
มันจึงไม่ใช่งานง่ายเลยนะครับในการเขียนหลักสูตรให้ครูทั้งประเทศใช้ได้อย่างสอดคล้องกับเจตนารมณ์ พร้อมๆ กับการให้อิสระกับครูทั้งประเทศที่จะนำหลักสูตรไปใช้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของตนเอง ครูบางคนอาจชอบให้หลักสูตรบอกมาเลยว่า ตนเองต้องสอนอย่างไรและทำอะไรบ้างในชั้นเรียน ยิ่งเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 … ได้ก็ยิ่งดี [ไม่เช่นนั้น แบบเรียนเอกชนคงขายไม่ได้] แต่ครูบางคนอาจรู้สึกอึดอัดและอยากมีอิสระในการคิดและออกแบบการจัดการเรียนการสอนด้วยตัวเอง มันจึงเป็นภาวะที่ผู้เขียนหลักสูตรต้องหาจุดสมดุลให้พอดี การหาจุดสมดุลนี้จะยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่าสำหรับประเทศที่ใหญ่และมีประชากร(ครู)มาก
เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเปลี่ยนแปลงสู่การใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่ ซึ่งเขาให้ชื่อว่า “Next Generation Science Standards” นักการศึกษาเองก็เริ่มมองเห็นปัญหาในอนาคตแล้วว่า ครูอาจไม่เข้าใจและไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร [ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางทฤษฎีพื้นฐานค่อนข้างมากทีเดียว] ครั้นหลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่นี้จะไปบอกหรือกำหนดสิ่งที่ครู “ต้องทำ” ในชั้นเรียนก็ไม่ใช่เรื่องดีและเป็นไปได้ ทั้งนี้เพราะประเทศนี้กว้างใหญ่และมีประชากรมาก ซึ่งหมายถึงความหลากหลายของบริบทและผู้เรียนที่มากด้วยเช่นกัน นักการศึกษาจึงต้องเร่งหาวิธีการแก้หรือบรรเทาปัญหานี้ หากไม่เช่นนั้นแล้ว หลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่ก็จะประสบปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์เก่า นั่นคือ ครูมีการตีความเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอน [ด้วยการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์] ที่หลากหลายและคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์ของหลักสูตร
ในการนี้ พวกเขาได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการระบุลักษณะของ “การปฏิบัติการสอนแกนกลาง” ซึ่งพวกเขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “A core set of science teaching practices” หรือ “a core set of instructional practices for science teachers” กล่าวคือ พวกเขาจะไม่ระบุรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยตรงว่า ครูต้องทำอะไรและอย่างไรในชั้นเรียน แต่พวกเขาจะระบุเพียงว่า ครูต้องสามารถปฏิบัติการสอนในลักษณะใดได้บ้าง ซึ่งเป็นลักษณะของการปฏิบัติการสอนที่ครูจำเป็นต้องมี หากครูต้องการจัดการเรียนการสอนให้ได้ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร [ในการกำหนดลักษณะของ “การปฏิบัติการสอนแกนกลาง” พวกเขามักใช้วิธีวิจัยแบบเดลฟาย (Delphi method) ซึ่งผมค่อยนำเสนอทีหลังนะครับ]
ต่อไปนี้เป็นลักษณะของ “การปฏิบัติการสอนแกนกลาง” ในงานวิจัยเรื่อง “Identifying a Core Set of Science Teaching Practices: A Delphi Expert Panel Approach” ครับ (หน้าที่ 13 – 14)
- ครูต้องสามารถทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม (ทั้งทางกายและทางใจ) ในการสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์
- ครูต้องสามารถส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายของนักเรียนทั้งในกลุ่มย่อยและในชั้นเรียน
- ครูต้องสามารถศึกษาและประเมินความคิดของนักเรียน และนำความคิดของนักเรียนไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน
- ครูต้องสามารถให้ข้อมูลย้อนกลับที่สร้างสรรค์เกี่ยวกับความคิด การกระทำ และผลงานของนักเรียน
- ครูต้องสามารถส่งเสริมให้นักเรียนสร้างและตีความแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์
- ครูต้องสามารถทำให้นักเรียนเห็นการเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และการดำรงชีวิตประจำวัน
- ครูต้องสามารถทำให้นักเรียนนำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้
- ครูต้องสามารถออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการแนวคิดแกนกลางของสาขา แนวคิดร่วมระหว่างสาขา และการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ [อันนี้เป็นเรื่องใหม่ของหลักสูตรนี้ครับ ผู้ที่สนใจลองอ่านบทความเรื่อง “Inquiry กำลังจะหายไป!?!?“]
- ครูต้องสามารถสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในห้องเรียน
การระบุลักษณะของ “การปฏิบัติการสอนแกนกลาง” เหล่านี้จะเป็นกรอบในการผลิตและพัฒนาครู เพื่อส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนได้ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่ต่อไปครับ