เราสอนแบบเดียวกับที่เราเคยถูกสอน

เราสอนแบบเดียวกับที่เราเคยถูกสอน” นี่คือวลีที่คนในวงการศึกษา โดยเฉพาะการครุศึกษา (การสร้างหรือผลิตครู) น่าจะคุ้นเคยกันดีครับ มันหมายความว่า ครูของเราสอนเรามาด้วยวิธีการใด เมื่อเราเป็นครู เราก็มีแนวโน้มที่จะสอนด้วยวิธีการเดียวกันนั้น

ผมเองก็เป็นแบบนี้ครับ ผมจำได้ว่า เมื่อผมเป็นนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้เรียนวิชาฟิสิกส์ ครูฟิสิกส์ก็สอนผมโดยการให้นิยามและสูตร จากนั้น ครูคนนี้ก็มีโจทย์ฟิสิกส์และแก้โจทย์นั้นให้ผมดูเป็นตัวอย่าง จำนวนโจทย์อาจมีประมาณ 1 – 3 ข้อ (ก็สุดแล้วแต่เวลาจะอำนวย) จากนั้น ผมก็ลองทำโจทย์ที่คล้ายๆ กันนี้ด้วยตัวเอง ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผมอยู่ ม. ปลาย การสอนฟิสิกส์ก็เป็นไปในลักษณะนี้ เมื่อผมได้มาเป็นครู และสอนฟิสิกส์ในระดับ ม. ปลาย ผมก็สอนด้วยวิธีการเดียวกันนี้ครับ ครูหลายคนก็น่าจะเป็นไปตามนี้เช่นเดียวกัน (อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วง 2 – 3 ปีแรกของการเป็นครู)

สิ่งที่น่าสนใจคือว่า วัฏจักรนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร แม้ปรากฏการณ์นี้ดูเป็นเรื่องปกติ แต่การหาคำอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างสมเหตุสมผลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ คำอธิบายหนึ่งที่ได้รับการยอมรับคือคำอธิบายของ Dan C. Lortie ซึ่งอยู่ในหนังสือที่มีชื่อว่า “Schoolteacher: A Sociological Study” ครับ ผมขอสรุปคำอธิบายของเขา ดังนี้ครับ

ในขณะที่เด็กคนหนึ่งกำลังเรียนเรื่องอะไรก็ตามกับครูคนหนึ่ง เด็กคนนั้นไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของวิชานั้นเท่านั้น เด็กคนนี้ยังเรียนรู้ด้วยว่า ธรรมชาติของวิชานั้นเป็นอย่างไร และธรรมชาติของการสอนวิชานั้นคืออะไร ผมขอยกตัวอย่างเป็น “วิชาฟิสิกส์” แล้วกันนะครับ ในขณะที่ครูคนหนึ่งกำลังสอนฟิสิกส์ (ซึ่งอาจเป็นเรื่องแรง คลื่น ไฟฟ้า หรืออะไรก็แล้ว) โดยการให้นิยาม สูตร และตัวอย่างการทำโจทย์ ตามลำดับ เด็กๆ ก็จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิชาฟิสิกส์ว่า วิชานี้เกี่ยวข้องกับการนำสูตรมาใช้เพื่อแก้โจทย์ต่างๆ นอกจากนี้ เด็กๆ ก็จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของการสอนวิชาฟิสิกส์ด้วยว่า มันต้องเริ่มจากการให้นิยามและสูตร (อาจรวมทั้งการพิสูจน์สูตร) และตามด้วยการแก้โจทย์ โดยการเอาตัวเลขต่างๆ ในโจทย์ไปแทนในสูตร เพื่อคำนวณออกมาเป็นคำตอบ กระบวนการนี้เกิดขึ้นคล้ายๆ กับการชมการแสดงอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วผู้ชมก็สร้างความความเข้าใจ(ขึ้นมาเอง)ว่า การแสดงที่ดีนั้นควรเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามความประทับใจของตนเองที่มีต่อการแสดงนั้น กระบวนการนี้เกิดขึ้นเอง โดยที่แม้แต่เด็กๆ เองก็มักไม่รู้ตัวครับ แต่ในท้ายที่สุด เด็กๆ ก็จะมีความเข้าใจเหล่านั้นติดตัวไป สิ่งนี้จะปรากฏออกมาเมื่อพวกเขา/เธอได้เป็นครูในอนาคต กระบวนการนี้มีชื่อว่า “the apprenticeship of observation” ครับ

หลักฐานสำคัญของการเกิดกระบวนการนี้ก็คือว่า ครู (โดยเฉพาะครูใหม่) มักให้เหตุผลเกี่ยวกับวิธีการสอนของตนเอง โดยการระบุว่า ครูของตนเองเคยสอนแบบนี้ในอดีต ซึ่งครูใหม่เห็นว่า มันดี (ซึ่งอาจเป็นในแง่ของความสนุก ความเข้าใจง่าย ความไม่น่าเบื่อ หรืออื่นๆ) ครูใหม่ก็เลยใช้วิธีการสอนแบบเดียวกันนี้ [อาจารย์ที่สนใจอาจลองหาบทความเรื่อง “Thai Physics Teachers’ Conceptions about Teaching” มาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ] ในบางโอกาส ผมเรียกวิธีการสอนของครูในอดีตนี้ว่า “วิธีการสอนโดยปริยาย” (by-default teaching method) ซึ่งก็หมายความว่า หากเราคิดวิธีการสอนไม่ออก เราก็ใช้วิธีการสอนแบบเดียวกับที่ครูของเราเคยใช้ในอดีตครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยที่สุด

นอกจากคำอธิบายนี้ช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ “เราสอนแบบเดียวกับที่เราเคยถูกสอน” แล้ว มันยังช่วยอธิบายด้วยว่า เหตุใดเราจึงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของตัวเองได้ยากนัก ทั้งนี้ของสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดสะสมมาตั้งแต่เรายังไม่เป็นครูเลยครับ มันฝังอยู่ในความเชื่อของเราไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่เราทราบสาเหตุว่า “ทำไมเราจึงสอนแบบนี้” สามารถช่วยให้เราทบทวนตัวเองได้ครับว่า สิ่งที่เราทำอยู่หรือสอนอยู่เหมาะสมหรือดีแล้วยัง หรือมันเป็นเพียงแค่สิ่งที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา เราอย่าลืมนะครับว่า ลูกศิษย์ของเราก็กำลังมองเราอยู่ พวกเขา/เธอก็กำลังสร้างความเข้าใจว่า ธรรมชาติของวิชาที่เราสอนเป็นอย่างไร และธรรมชาติของการสอนวิชานั้นเป็นอย่างไร เราอาจต้องตระหนักด้วยว่า หากลูกศิษย์ของเรา (คนใดคนหนึ่งหรือหลายคน) ได้เป็นครูในอนาคต พวกเขา/เธอก็คงสอนแบบเดียวกับที่เรากำลังสอนอยู่นี่แหละครับ