ตัวอย่างการทำวิจัยปฏิบัติการ

งานวิจัยปฏิบัติการ (action research) เป็นอีกสิ่งหนึ่งนะครับ ซึ่งผมฝันและอยากให้เกิดขึ้นจริงๆ ในบ้านเรา อย่างไรก็ดี งานวิจัยประเภทนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะมันเน้นการสะท้อนความคิดของผู้วิจัย (ครู) ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากในยุคสมัยที่ครูแทบไม่มีแม้แต่เวลาเตรียมการสอน เพราะภาระงานมากมายในโรงเรียน (โดยเฉพาะการเตรียมตัวเพื่อรับการประเมินโครงการต่างๆ) ภายใต้บริบทเช่นนี้ ครูสักกี่คนจะมีเวลานั่งสะท้อนความคิด เขียนอนุทิน และทำวิจัยปฏิบัติการ มันยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่า หากงานวิจัยนั้นเป็นงานวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (collaborative action research) ที่มีผู้วิจัยร่วมมือกันหลายคน

ก่อนอื่นผมใคร่อยากจะสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก่อนสำหรับคำว่า “งานวิจัยปฏิบัติการ” ผมไม่แน่ใจนะครับว่า สิ่งที่ผมเข้าใจกับสิ่งที่คนอื่นเข้าใจจะตรงกันหรือไม่ แต่ที่ผมจำได้ขึ้นใจเลยคือว่า เมื่อตอนที่ผมไปศึกษาดูงานที่ประเทศแคนาดา อาจารย์ท่านหนึ่งเคยถามผมว่า “หัวใจของงานวิจัยปฏิบัติการคืออะไร” ซึ่ง ณ เวลานั้น ผมตอบไม่ได้ แต่คำตอบที่ผมได้รับหลังจากนั้นก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” (change) ความหมายคือว่า เป้าหมายหลักของการทำวิจัยปฏิบัติการนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลง มันคือการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างที่ผู้วิจัยอยากให้มันดีขึ้น

ในการนี้ ผู้วิจัยต้องถามและรู้ตัวเองก่อนว่า ตนเองประสบปัญหาอะไร ปัญหานั้นเป็นปัญหาจริงๆ หรือเป็นเพียงความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้ผู้วิจัยตัดสิน(ไปเอง)ว่า มันคือปัญหา จากนั้น ผู้วิจัยจึงพยายามสำรวจ ทบทวน และไตร่ตรองว่า ตนเองมีส่วนให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ ผู้วิจัยต้องมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพื่อที่ผู้วิจัยจะได้หาทางกำจัดหรือลดปัญหานั้นด้วยตัวเอง ผู้วิจัยจะไม่มองตัวเองลอยอยู่เหนือปัญหา หรืออยู่แยกออกจากปัญหา เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้วิจัยต้องไปแก้ปัญหาที่ผู้อื่น (ไม่ใช่ตนเอง) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า การแก้ปัญหานั้นจะทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้วิจัยกำลังจะเปลี่ยนแปลงผู้อื่น แทนที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง (เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้หรอกครับนอกจากตัวเราเอง)

นั่นหมายความว่า งานวิจัยปฏิบัติการเป็นงานวิจัยที่มีจุดเน้นตรงที่ผู้วิจัยเอง ซึ่งไม่เหมือนกับงานวิจัยอื่นๆ ที่เน้นการศึกษาหรือพัฒนาผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เราอาจมองว่า งานวิจัยปฏิบัติการเป็นงานวิจัยแบบมุมมองที่ 1 ก็ได้ครับ

ในการทำวิจัยปฏิบัติการ ผู้วิจัยต้องบอกตัวเองเสมอครับว่า ผู้วิจัยจะเปลี่ยนแปลง “ตนเอง” เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นลดลงหรือหายไป (มันคือแนวคิดนี้แหละครับที่ทำให้ผมชอบงานวิจัยปฏิบัติการเป็นพิเศษ) หลังจากการสำรวจและทำความเข้าใจปัญหาแล้ว ผู้วิจัยต้องเข้าสู่กระบวนการที่นักวิจัยปฏบัติส่วนใหญ่การเรียกันว่า “วัฏจักร PAOR” ซึ่งประกอบด้วยการวางแผน (planing) ว่า ตนเองจะเปลี่ยนแปลงอะไรและอย่างไร การลงมือเปลี่ยนแปลงตนเอง (acting) การสังเกตผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้น (observing) และการสะท้อนความคิดเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้น (reflecting) วิธีการวิจัย (เช่น การเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระหว่างการลงมือเปลี่ยนแปลงตนเอง (acting) และการสังเกตผลจากการเปลี่ยนแปลงนั้น (observing) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้วิจัย(และผู้อื่น)มั่นใจได้ว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่ผู้วิจัยคิดหรืออุปทานไปเอง

แต่ส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือการสะท้อนความคิดเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้น (reflecting) ผู้วิจัยต้องทบทวนอยู่เสมอว่า สิ่งที่ตนเองกำลังเปลี่ยนแปลงนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งมักนำไปสู่การมองปัญหาด้วยมุมมองใหม่ และการปรับปรุง/พัฒนาสิ่งนั้นให้ดีขึ้น การทำวิจัยปฏิบัติการจึงไม่มีจุดสิ้นสุด หากแต่เป็นการปรับปรุงและพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ

ผมเกริ่นยาวเป็นพิเศษนะครับ เราลองมาดูตัวอย่างงานวิจัยปฏิบัติการกันครับ งานวิจัยนี้มีชื่อว่า “Taking Action in Elementary Science Teaching: A Reflection on Four Teacher’s Collaborative Research Journey” อันที่จริงแล้ว มันก็ไม่ใช่รายงานวิจัยปฏิบัติการหรอกครับ มันเป็นบทความที่เล่าเรื่องราวที่ครูวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษา 4 คน ทำวิจัยปฏิบัติการร่วมกัน เนื้อหามีดังนี้ครับ

ในตอนแรกเริ่มนั้น ครูวิทยาศาสตร์ 4 คน มีความรู้สึกคล้ายกันว่า นักเรียนของตนเองไม่ค่อยสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ครูเหล่านี้รับรู้ตรงกัน ครูเหล่านี้เห็นตรงกันว่า นักเรียนควรได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากวัสดุอุปกรณ์จริงๆ (ไม่ใช่ฟังครูเล่าว่า วัสดุอุปกรณ์ของจริงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้) วัสดุอุปกรณ์ของจริงน่าจะช่วยให้นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น ครูเหล่านี้มองว่า ปัญหาที่นักเรียนไม่สนใจเรียนนั้นเป็นเพราะ “ตนเอง” ที่ยังกระตุ้นความสนใจของนักเรียนได้ไม่ดีพอ (ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ของจริง) ครูเหล่านี้ไม่ได้มองว่า ปัญหามาจากนักเรียน พวกเขาจึงตัดสินใจแก้ปัญหานั้นที่ “ตัวเอง” (ไม่ใช่ที่นักเรียน)

ครูเหล่านี้ก็ตกลงกันไปหาวัสดุอุปกรณ์ของจริง ซึ่งในที่นี้คือกระโหลกศรีษะจริงๆ แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นเช่นนั้น ครูเหล่านี้พบว่า นักเรียนแทบไม่สนใจกระโหลกศรีษะนั้นเลย นักเรียนไม่เข้ามาเล่นหรือสำรวจกระโหลกศรีษะนั้น นักเรียนไม่ถามอะไรเกี่ยวกับกระโหลกศรีษะนั้น นักเรียนบางคนอาจถาม แต่คำถามนั้นไม่ใช่คำถามที่ครูต้องการ เช่น ครูเอากะโหลกมาทำอะไร ครูเอากระโหลกมาจากไหน กะโหลกนี้เป็นของใคร เป็นต้น จากการเปลี่ยนแปลง(ที่ตนเอง) และการสังเกตผลการเปลี่ยนแปลง(ที่ตนเอง) ครูเหล่านี้พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ แม้มีวัสดุอุปกรณ์ของจริง นักเรียนก็ยังไม่สนใจเรียนอยู่ดี

ครูเหล่านี้จึงกลับมาสะท้อนความคิดกัน ครูเหล่านี้เห็นตรงว่า นักเรียนคุ้นเคยกับการเรียนแบบรับข้อมูล/ความรู้จากครู นักเรียนไม่มีการตั้งคำถามหรือสงสัย แม้ว่าครูจะพยายามนำสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับนักเรียนแล้วก็ตาม ครูเหล่านี้เริ่มมองปัญหานี้ด้วยมุมมองใหม่ว่า ตนเองอาจไม่ได้กระตุ้นให้นักเรียนสนใจหรืออยากรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัวเท่าที่ควร พวกเขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตนเองอีกครั้ง โดยการส่งเสริมและฝึกให้นักเรียนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ซึ่งครูเหล่านี้มองว่า ความสามารถในการตั้งคำถามเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์มักเริ่มต้นด้วยคำถาม หากนักเรียนไม่สงสัยอะไรแล้ว นักเรียนจะสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

แม้ครูเหล่านี้เริม่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนฝึกตั้งคำถาม ซึ่งนักเรียนหลายคนสามารถตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน ครูเหล่านี้พบว่า แม้นักเรียนตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์ได้แล้ว นักเรียนกลับไม่ได้พยายามหาคำตอบของคำถามนั้นด้วยตนเอง นักเรียนรอให้ครูเป็นผู้ตอบคำถามนั้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ครูเหล่านี้มองว่าเป็นปัญหาใหม่

ครูเหล่านี้กลับมาทบทวนว่า ตนเองมีส่วนทำให้นักเรียนไม่คิดหาคำตอบด้วยตนเองหรือไม่ ซึ่งจากการสะท้อนความคิดและการอภิปรายกลุ่ม ครูเหล่านี้ก็ตระหนักว่า ตนเองไม่ได้เปิดโอกาาสและให้เวลากับนักเรียนในการพยายามหาคำตอบ หากแต่เป็นครูเองนั่นแหละที่รีบตอบคำถามนั้นด้วยตัวเอง นักเรียนจึงไม่มีโอกาสให้คิดและตอบคำถามนั้นด้วยตนเอง เพราะครูชิงตอบไปซะก่อน เมื่อครูเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ครูพยายามปรับเปลี่ยนตนเอง โดยการรับฟังความคิดของนักเรียนมากยิ่งขึ้น อภิปรายกับนักเรียนมากขึ้น และคอยสนับสนุนให้นักเรียนหาคำตอบด้วยตนเองมากขึ้น ครูค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้/ผู้ตอบคำถามไปเป็นผู้คอยสนับสนุนให้นักเรียนสร้างหรือหาความรู้เอง

เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับครูวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษา 4 คน ซึ่งเริ่มจากการมองปัญหาแบบง่ายๆ ก่อนว่า นักเรียนไม่สนใจเรียนเพราะไม่มีวัสดุอุปกรณ์ของจริง แต่จากความพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง และสังเกตการเปลี่ยนแปลงนั้น ครูเริ่มเข้าใจปัญหาในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น นั่นคือ ตนเองไม่ได้พัฒนาหรือฝึกให้นักเรียนเป็นผู้ตั้งคำถามและตอบคำถาม ซึ่งทำให้ครูเหล่านี้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการปฏิบัติการสอนของตนเองให้ดีขึ้น และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นักเรียนด้วยเช่นกัน อันนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนหัวใจของการวิจัยปฏิบัติการ (การมองตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อแก้หรือลดปัญหานั้น)

ผมคิดว่า การส่งเสริมการวิจัยปฏิบัติการในบ้านเราอาจต้องการมีทบทวนใหม่เหมือนกัน ในอดีตที่ผ่านมา เราอาจไม่ได้เน้นหัวใจของการทำวิจัยปฏิบัติการ หากแต่ไปเน้นวิธีการวิจัยซะมากกว่า ตอนที่มีการอบรมวิจัยปฏิบัติการ เรามักได้ยินคำถามประเภทที่ว่า ผลงานวิจัยนี้จะน่าเชื่อถืออย่างไร มันจะเอาไปใช้อ้างอิงในบริบทอื่นๆ ได้ไหม มันจะใช่การวิจัยเหรอที่ให้ครูมาทำอะไรแบบนี้ แต่เราไม่ได้เน้นให้ครูสะท้อนตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองให้ครูที่ดีขึ้นกว่าเดิมเลย คำถามของผมคือว่า ระหว่างอย่างแรกกับอย่างหลัง อะไรสำคัญมากกว่ากัน เราอยากให้ครูเป็นผู้สร้างความรู้ใหม่ที่ใช้อ้างอิงได้ทุกที่ทุกเวลา หรือเราอยากให้ครูรู้จักทบทวน สะท้อนความคิด และปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ