เราเรียนรู้กันมาหลายครั้งแล้วนะครับว่า ก่อนการจัดการเรียนการสอนเรื่องใดๆ ก็ตาม ผู้เรียนมักมีความรู้/ความเข้าใจเดิมอยู่แล้ว ซึ่งมักเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนเอง ความรู้/ความเข้าใจเดิมนี้มักแตกต่างไปจาก(หรือแม้กระทั่งขัดแย้งกับ)แนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยเรื่อง “ความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เกี่ยวกับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม” ผู้วิจัยได้นำเสนอว่า ผู้เรียนมีความเข้าใจเดิมว่า การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกเกิดขึ้นผ่านทางสายเลือด ความเข้าใจเดิมนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้เรียนเคยได้ยินผ่านสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการตรวจสอบดีเอ็นเอในเลือดเพื่อบ่งชี้ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างบุคคล 2 คน ทั้งๆ ที่ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ลักษณะทางพันธุกรรมถูกถ่ายทอดผ่านทางการปฏิสนธิระหว่างเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อและของแม่
เนื่องจากความรู้/ความเข้าใจเดิมมักมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของผู้เรียน ดังนั้น งานวิจัยจำนวนมากจึงมุ่งศึกษาความรู้/ความเข้าใจเดิมของผู้เรียน เพื่อหาทางจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนความรู้/ความเข้าใจเดิมนั้นให้สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ครูจึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้/ความเข้าใจเดิมของผู้เรียนในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ หากไม่เช่นนั้นแล้ว ผู้เรียนก็จะยังคงมีความรู้/ความเข้าใจเดิมที่แตกต่างไปจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับจำนวนของงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความรู้/ความเข้าใจเดิมของผู้เรียน งานวิจัยมีจำนวนน้อยกว่ามากที่ศึกษาว่า ในระหว่างการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ครูตระหนักและให้ความสำคัญกับความรู้/ความเข้าใจเดิมมากน้อยเพียงใด และครูมีปฏิกิริยาอย่างไรกับความรู้/ความเข้าใจเดิมเหล่านั้น งานวิจัยเรื่อง “The Influence of Primary Children’s Ideas in Science on Teaching Practice” มุ่งตอบคำถามเหล่านี้ครับ
ผู้วิจัยศึกษาการปฏิบัติการสอนของครูวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 คน โดยครู 2 คน มีประสบการณ์สอน 24 และ 10 ปี และอีกคนหนึ่งเป็นครูฝึกสอนทีี่มีประสบการณ์สอนน้อย ครูเหล่านี้กำลังสอนเนื้อหาวิทยาศาสตร์เดียวกัน ซึ่งในที่นี้คือเนื้อหาเกี่ยวกับดาราศาสตร์ อย่างไรก็ดี ครูเหล่านี้มุ่งเน้นให้นักเรียนชั้น ป. 2 อ่านออกเขียนได้เป็นวัตถุประสงค์หลัก ในขณะที่การพัฒนาความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เป็นวัตถุประสงค์รอง
ในการนี้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ครู เพื่อระบุว่า ครูแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหาในระดับใด (ครูที่มีประสบการณ์สอน 24 ปี มีความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหามาก รองลงมาก็คือครูที่มีประสบการณ์สอน 10 ปี และครูฝึกสอน ตามลำดับ) นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ครูเกี่ยวกับความตระหนักถึงความสำคัญของความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ยี่งไปกว่านั้น ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์นักเรียนจำนวนหนึ่งที่เรียนกับครูแต่ละคนอีกด้วย โดยผู้วิจัยถามนักเรียนเหล่านี้ว่า ครูสนใจและตอบสนองต่อคำถามหรือข้อสงสัยของตนเองหรือไม่ และอย่างไร
นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ครูและนักเรียนแล้ว ผู้วิจัยยังได้เก็บข้อมูลจากการสังเกตและบันทึกการปฏิบัติการสอนของครูแต่ละคนด้วย ผู้วิจัยทำการบ่งชี้เหตุการณ์ที่นักเรียนคนใดคนหนึ่ง(หรือหลายคน)แสดงความรู้/ความเข้าใจเดิมของตนเอง จากนั้น ผู้วิจัยพิจารณาว่า ครูแต่ละคนตระหนักและสนใจความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนหรือไม่ และอย่างไร [เราอาจเรียกการเลือกเหตุการณ์ที่ผู้วิจัยสนใจเพื่อการวิเคราะห์ในรายละเอียดนี้ว่า “เทคนิคการเลือกเหตุการณ์ที่สำคัญ” หรือ “Critical incident technique” ครับ]
ผลการวิจัยปรากฏว่า ครูทั้ง 3 คน ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้/ความเข้าใจเดิมของผู้เรียน อย่างไรก็ดี ครูแต่ละคนมีวิธีการตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ครูแต่ละคนก็มี “ระดับ” การตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนมากน้อย(หรือบ่อยครั้ง)แตกต่างกันไป
ครูที่มีประสบการณ์สอน 24 ปี มีวิธีตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจของนักเรียนมาก ด้วยประสบการณ์สอนที่ยาวนาน ครูคนนี้จึงมีความรู้เกี่ยวกับความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนเป็นทุนเดิมอยู่ค่อนข้างมาก ครูคนนี้จึงสามารถพัฒนาบทเรียนที่ตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนได้ล่วงหน้า ซึ่งอาจเป็น (1) การสาธิตปรากฏการณ์ (2) การฝึกอ่านบทความวิทยาศาสตร์ (3) การอธิบายแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และ (4) การอุปมาอุปมัย วิธีทั้งหมดนี้เน้นการนำเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดแย้งกับความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียน
ครูที่มีประสบการณ์สอน 10 ปี มีวิธีตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจของนักเรียนปานกลาง วิธีการตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนของครูคนนี้ประกอบด้วย (1) การอธิบายแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ (2) การฝึกอ่านบทความวิทยาศาสตร์ และ (3) การให้นักเรียนลงมือปฏิบัติร่วมกับการอภิปราย วิธีทั้งหมดนี้เน้นการนำเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดแย้งกับความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียน
ครูฝึกสอนมีวิธีตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจของนักเรียนปานกลาง ซึ่งประกอบด้วย (1) การกล่าวถึงความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนซ้ำ เพื่อให้นักเรียนตอบอีกแบบหนึ่งที่ตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น เมื่อครูถามนักเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้จรวดเคลื่อนที่ขึ้นจากพื้น แล้วนักเรียนตอบตามความรู้/ความเข้าใจเดิมของตนเองว่า มันเป็นเพราะไฟท้ายจรวดที่พุ่งขึ้น ครูก็กล่าวซ้ำในรูปแบบของคำถามที่ว่า “ไฟนั้นพุ่งขึ้นหรือพุ่งลง” ซึ่งเป็นสัญญาณให้นักเรียนทราบว่า คำตอบก่อนหน้านั้นไม่ถูกต้อง นักเรียนจึงเปลี่ยนคำตอบในเวลาต่อมา (2) การกล่าวถึงความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนซ้ำ “เพียงส่วนที่ถูกต้อง” ตัวอย่างเช่น เมื่อครูบอกนักเรียนว่า การผลักลูกตุ้มไปข้างหน้าเพื่อให้มันแกว่งไปมาคือแรงกิริยา แล้วครูถามนักเรียนว่า แรงปฏิกิริยาคืออะไร นักเรียนคนหนึ่งตอบว่า มันไปหน้าและถอยหลัง ครูก็กล่าวคำตอบของนักเรียนซ้ำเพียงแค่ส่วนที่ถูกต้องเท่านั้นว่า “แรงปฏิกิริยาไปข้างหลัง” (3) การวางเฉยต่อคำตอบที่ไม่ถูกต้องของนักเรียน
จากผลการวิจัยข้างต้น ผู้วิจัยเห็นว่า แต่ละวิธีการตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน ดังนั้น ถึงแม้ว่าครูเหล่านี้ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า ครูเหล่านี้จะตอบสนองต่อความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะด้วย ทั้งนี้เพราะครูที่มีประสบการณ์สอนมากดูเหมือนจะมีวิธีการที่หลากหลายและมีการเตรียมตัวที่ดีกว่าครูที่มีประสบการณ์น้อย
โครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” เองก็ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียน และพยายามส่งเสริมให้ครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนอย่างละเอียด อย่างไรก็ดี สิ่งที่โครงการนี้ยังไม่ได้ทำก็คือการส่งเสริมให้ครูหาวิธีการตอบสนองความรู้/ความเข้าใจเดิมของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพครับ