ในระหว่าง “การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ” ที่ผ่านมา อาจารย์ได้มีโอกาสอ่านตัวอย่างข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งผมทำการสังเกตการสอนครูฟิสิกส์คนหนึ่ง ในระหว่างนั้น อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “หากเรานำกล้องไปบันทึกการสอนของตัวเอง เพื่อนำมาพิจารณาว่า การสอนของเราเป็นอย่างไร และเราควรปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้นได้อย่างไร ก็คงเป็นเรื่องดี” ผมจำได้ว่า ตัวผมเองได้บอกไปว่า การทำแบบนั้นก็เป็นงานวิจัยอีกรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน ซึ่งงานวิจัยแบบนี้มีชื่อว่า “การวิจัยศึกษาตัวเอง” (Self-Study Research)
ในบทความเรื่อง “การวิจัยศึกษาตนเอง: กลยุทธุ์ทางเลือกในการพัฒนาวิชาชีพครูของครู” ผศ.ดร. ชาตรี ฝ่ายคำตา ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยแบบนี้ครับ สิ่งสำคัญคือว่า ในการวิจัยศึกษาตนเองนั้น ผู้วิจัยและผู้ให้ข้อมูลเป็นคนเดียวกัน กล่าวคือ หากเราทำการวิจัยศึกษาตนเอง เราต้องทำการเก็บข้อมูลจากตัวเราเอง ซึ่งข้อมูลนั้นอาจเป็นข้อมูลจากการสังเกตการสอนของตัวเอง (โดยเราอาจมีการใช้กล้องบันทึกการสอนของเราเอง) การบันทึกสิ่งที่เราคิดและรู้สึกเอาไว้ในสมุดจด การตั้งคำถามแล้วตอบคำถามนั้นด้วยตัวเอง ในมุมมองของงานวิจัยแบบดั้งเดิม การกระทำแบบนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ขาดความน่าเชื่อถือนะครับ แต่หากเราทำด้วยใจเป็นกลางและไม่เข้าข้างตัวเองแล้ว การวิัจัยแบบนี้จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และรู้ว่าตัวเรานั้นควรพัฒนาอะไรบ้างโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอก เราจะรู้ด้วยตัวของเราเอง (หากอาจารย์เคยอ่านเรื่อง “งานวิจัยแบบมุมมองที่ 1 2 และ 3” อาจารย์คงทราบว่า การวิจัยศึกษาตนเองนี้เป็นงานวิจัยแบบมุมมองที่ 1)
แม้ว่าโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมงานวิจัยแบบนี้ แต่เป็นการส่งเสริมงานวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาแนวคิดของนักเรียน ซึ่งผู้วิจัยและผู้ให้ข้อมูลเป็นคนละคนกัน (ผู้วิจัยเป็นครู และผู้ให้ข้อมูลเป็นนักเรียน) แต่ถ้าอาจารย์สนใจ อาจารย์ก็สามารถอ่านบทความข้างต้นได้ รวมทั้งอาจารย์สามารถสอบถาม ผศ.ดร. ชาตรี ฝ่ายคำตา ได้โดยตรง เพราะท่านจะมาเป็นวิทยากรในการอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อการเขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพในวันที่ 8 – 10 สิงหาคมนี้ครับ
หมายเหตุ: ผมแจ้งรายละเอียดของการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพไปทางอีเมลล์ของอาจารย์ทุกท่านแล้วครับ