รูปแบบทั่วไปของการนำเสนอผลการวิจัยเชิงคุณภาพ

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยสอนผมว่า เวลาอ่านงานวิจัย อย่างน้อยๆ ผมควรได้ 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งคือว่า สาระสำคัญของงานวิจัยนั้นคืออะไร ซึ่งก็คือผลการวิจัยนั่นเองครับ มันเป็น “product” ของการวิจัย อย่างที่สองคือว่า ผู้วิจัยทำการวิจัยนั้นอย่างไร อันนี้ก็คือกระบวนการวิจัยครับ มันเป็น “process” ของการวิจัย ผมยึดถือหลักการอ่านงานวิจัย 2 ข้อนี้มาโดยตลอดครับ

หลายปีผ่านไป ด้วยประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ผมก็เรียนรู้ด้วยตัวเองอีกอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ผมควรได้จากการอ่านงานวิจัย ก็คือ รูปแบบการนำเสนองานวิจัยครับ ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผู้วิจัยแต่ละคนนำเสนอผลการวิจัย (ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก) ให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าคล้อยตามได้อย่างไร โครงสร้างของการนำเสนอผลการวิจัย(เชิงคุณภาพ)เป็นอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว การรายงานผลการวิจัยเชิงคุณภาพ (กลุ่มข้อมูลที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกัน) มักประกอบด้วย 3 ส่วนครับ [ผมพูดเฉพาะตรงผลการวิจัยนะครับ ผมข้ามตรงส่วนอื่นไปก่อน]

ส่วนแรกเป็นการเกริ่นนำครับ ซึ่งผู้วิจัยให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย เช่น วัตถุประสงค์ของการวิจัยคืออะไร ผู้ให้ข้อมูลคือใครและมีจำนวนเท่าไหร่  และ การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นอย่างไร ในตอนแรก ผมคิดว่า การเกริ่นนำนี้ไม่จำเป็นเลยครับ เพราะมันได้รับการนำเสนอไปในส่วนวิธีวิจัยก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทำไมผู้วิจัยหลายคนยังนำเสนอข้อมูลตรงนี้ซ้ำอีก คำตอบคือว่า ผู้อ่านหลายคนไม่ได้อ่านมาตั้งแต่แรกครับ ผู้อ่านจำนวนหนึ่งข้ามมาอ่านที่ผลการวิจัยเลย โดยไม่ได้อ่านบทนำและวิธีการวิจัย ดังนั้น การเกริ่นนำเล็กน้อยเกี่ยวการวิจัย จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้อ่านกลุ่มนี้ครับ

ส่วนที่สองเป็นการนำเสนอภาพรวมของผลการวิจัยครับ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของแผนภาพ แผนภูมิ กราฟ ตาราง หรืออะไรที่ใครเห็นปุ๊บก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ผมมักนำข้อมูลส่วนนี้มานำเสนอกับอาจารย์ในเว็บไซต์นี้อยู่บ่อยๆ

ส่วนที่สามเป็นรายละเอียดของผลการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยนำเสนอกลุ่มข้อมูลไปทีละกลุ่มๆ ส่วนที่สามนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนย่อยครับ ส่วนย่อยแรกเป็นการบรรยายลักษณะสำคัญของกลุ่มข้อมูลนั้นๆ ส่วนย่อยที่สองเป็นการนำเสนอหลักฐานหรือตัวอย่างข้อมูล ที่สนับสนุนลักษณะสำคัญในส่วนย่อยแรก ซึ่งอาจเป็นการคัดลอกคำพูดของผู้ให้ข้อมูลมาครับ ส่วนย่อยที่สามเป็นการชี้แจงว่า ลักษณะสำคัญในส่วนย่อยที่หนึ่ง และหลักฐานในส่วนย่อยที่สองนั้น มีความสัมพันธ์กันยังไง ผู้วิจัยก็นำเสนอแบบนี้ไปจนครบทุกกลุ่มข้อมูล

การนำเสนอผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่ผมเห็นและอ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นไปตามรูปแบบนี้ครับ ยกเว้นว่าผู้วิจัยมีความคิดสร้างสรรค์และนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างออกไป