ถ้าเราสังเกตดีๆ เราจะพบว่า ข้อสอบ PISA (แทบ)ทุกข้อเริ่มต้นด้วยการนำเสนอบริบท ซึ่งนำไปสู่คำถามที่เกี่ยวข้องกับบริบทนั้น คำถามคือว่า “ทำไมข้อสอบ PISA จึงต้องมีบริบท” ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เหตุผลของ OECD คืออะไร แต่งานวิจัยเรื่องหนึ่งเปิดเผยว่า บริบทช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดและการเรียนรู้ของนักเรียน งานวิจัยนี้มีชื่อว่า “Creating Opportunities for Students to Show What They Know: The Role of Scaffolding in Assessment Tasks”
งานวิจัยนี้มีวัตถประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพของ “ตัวช่วย” ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏในใบงานหรือใบกิจกรรมของครู ที่สามารถช่วยหรือส่งเสริมให้นักเรียนสร้างคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ในการนี้ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมใบงานและใบกิจกรรมของครู จำนวน 33 คน และผลการทำใบงานและใบกิจกรรมของนักเรียน จำนวน 707 ชิ้น ทั้งนี้เพื่อระบุว่า ตัวช่วยลักษณะแบบใดที่ช่วยให้นักเรียนสร้างคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีคุณภาพ
จากจำนวนคำถามทั้งหมด 76 ข้อ ผู้วิจัยจัดกลุ่มตัวช่วยในคำถามเหล่านี้ออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
- คำถามที่มีตัวช่วยเป็นบริบทเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ: คำถามลักษณะนี้มีการเกริ่นนำด้วยบริบทเกี่ยวกับปรากฏการณ์ใดๆ จากนั้น คำถามกำหนดให้นักเรียนอธิบายว่า “ทำไมปรากฏการณ์นี้จึงเป็นเช่นนั้น”
- คำถามที่มีตัวช่วยเป็นเกณฑ์การให้คะแนน: คำถามลักษณะนี้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า นักเรียนต้องทำอะไรบ้าง และถ้านักเรียนทำนั่นทำนี่แล้ว นักเรียนจะได้กี่คะแนน
- คำถามที่มีตัวช่วยเป็นรายการให้เลือกตอบ: คำถามลักษณะนี้มีตัวเลือกเป็นคำอธิบายต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเลือกตอบว่า คำอธิบายใดเป็นไปได้ที่สุด
- คำถามที่มีตัวช่วยเป็นรูปประโยค: คำถามลักษณะนี้มีประโยคที่มีช่องว่างให้นักเรียนเติมบางคำและ/หรือบางวลีลงในประโยคนั้น
- คำถามที่มีตัวช่วยเป็นภาพลายเส้นร่วมกับพื้นที่การเขียนตอบ: คำถามลักษณะนี้มีพื้นที่และภาพลายเส้นเพื่อให้นักเรียนลงรายละเอียดของภาพนั้น พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยคำถามหนึ่งข้ออาจมีตัวช่วยได้มากกว่า 1 ลักษณะ
จากนั้น ผู้วิจัยพิจารณาว่า คำอธิบายของนักเรียนมีคุณภาพดีเพียงใด ทัั้งนี้เพื่อนำไปเทียบเคียงว่า คำอธิบายที่มีคุณภาพดีเกิดขึ้นบ่อยในคำถามที่มีตัวช่วยลักษณะใด ผู้วิจัยกำหนดลักษณะของคำอธิบายที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วย 4 ลักษณะ ดังนี้
- คำอธิบายที่มีการเชื่อมโยงระหว่าง “ปรากฏการณ์ที่นักเรียนสามารถสังเกตได้” และ “กลไกเบื้องหลังที่ที่นักเรียนไม่สามารถสังเกตได้” เช่น คำอธิบายที่เชื่อมโยงระหว่าง “การเคลื่อนที่ของวัตถุใดๆ” (ซึ่งนักเรียนสามารถสังเกตได้) กับ “แรงที่กระทำต่อวัตถุนั้น” (ซึ่งนักเรียนไม่สามารถสังเกตได้)
- คำอธิบายที่มีการอ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์
- คำอธิบายที่ระบุถึงกลไกหรือกระบวนการว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุใด และได้อย่างไร (ไม่ใช่คำอธิบายที่อ้างถึงแนวคิด/คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์อย่างลอยๆ)
- คำอธิบายที่มีความสอดคล้องในตัวเอง โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ขัดแย้งกันในตัวเอง
ในการนี้ ผู้วิจัยสร้างเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับแต่ละลักษณะของคุณภาพของคำอธิบาย (ซึ่งก็คือการแปลงข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ) เพื่อนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์กับลักษณะตัวช่วยที่ปรากฏในคำถาม [สูตรการวิเคราะห์ซับซ้อนมากครับ ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าใจ]
ผลการวิจัยเบื้องต้นปรากฏว่า ตัวช่วยที่ครูใช้กันบ่อยที่สุดคือ “ภาพลายเส้นร่วมกับพื้นที่การเขียนตอบ” (55.3%) รองลงมาคือ “บริบทของปรากฏการณ์” (32.9%) “รายการคำอธิบายให้เลือกตอบ” (27.6%) “เกณฑ์การให้คะแนน” (25.0%) และ “รูปแบบประโยค” (13.1%) ตามลำดับ
นอกจากนี้ คำถามในใบงานและใบกิจกรรมประมาณร้อยละ 19.7 ไม่มีตัวช่วยใดๆ เลย ประมาณร้อยละ 38.2% มีตัวช่วย 1 ลักษณะ ประมาณร้อยละ 32.9 มีตัวช่วย 2 – 3 ลักษณะ ประมาณร้อยละ 7.9 มีตัวช่วย 4 ลักษณะ และประมาณ ร้อยละ 1.3 มีตัวช่วยครบทั้ง 5 ลักษณะ
ผลการวิจัยหลักปรากฎว่า (หน้าที่ 695)
“using contextualized phenomena is the strongest single predictor of the quality of student explanation … the most powerful combination was the one that had three or more upper level scaffolding types that included contextualized phenomena.” …, indicating that the selection of forms of scaffolding is critical [Italic in original]
ซึ่งหมายความว่า การใช้ปรากฏการณ์ที่มีบริบทเป็นตัวช่วยให้นักเรียนสร้างคำอธิบายที่มีคุณภาพมากที่สุด นอกจากนี้ การใช้ตัวช่วยร่วมกันตั้งแต่ 3 ลักษณะขึ้นไป (โดยหนึ่งในนั้นเป็นการใช้ปรากฏการณ์ที่มีบริบท) เป็นการใช้ตัวช่วยที่มีพลังที่สุด สิ่งนี้จึงบ่งชี้ว่า การเลือกใช้ลักษณะตัวช่วยในใบงานและในกิจกรรมเป็นเรืื่องสำคัญ (ไม่ใช่ว่าครูจะใช้แบบใดก็ได้ตามอำเภอใจ)
ผมขอสรุปอีกครั้งว่า การใช้บริบทที่เป็นปรากฏการณ์ช่วยให้นักเรียนสร้างคำอธิบายได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด (เมื่อเทียบกับตัวช่วยลักษณะอื่นๆ) ผู้วิจัยอภิปรายผลการวิจัยนี้ว่า ในขณะที่นักเรียนกำลังสร้างคำอธิบายเพื่อตอบคำถามในใบงานและในกิจกรรม บริบทที่เป็นปรากฏการณ์ช่วยให้นักเรียนใช้ความรู้และปรากฏการณ์เดิมของตนเองในการสร้างคำอธิบาย กระบวนการนี้เอื้อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายมากขึ้น กล่าวคือ นักเรียนสามารถเชื่อมโยงระหว่างความรู้และประสบการณ์เดิมของตนเองกับคำถามในใบงานและใบกิจกรรม
การใช้ปรากฏการณ์เป็นบริบทของคำถามเป็นรูปแบบที่ปรากฏเป็นปกติในข้่อสอบ PISA การประเมินรูปแบบนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพื่อประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น หากแต่มันยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการประเมินนั้นด้วยเช่นกัน (ผมเองก็รู้สึกแบบนั้นตอนที่ผมทำข้อสอบ PISA ครั้งแรก) ดังนั้น ในการสร้างใบงานและใบกิจกรรมครั้งต่อไป เรามาใช้คำถามที่มีการเกริ่นนำด้วยปรากฏการณ์กันเถอะครับ